องค์การเภสัชฯ เซ็นสัญญาซื้อ ATK 8.5 ล้านชุดแล้ว โต้ฝ่ายค้านไม่ได้เป็นตัวแทนขายซิโนแวค

0
138
สมัคร mm88

องค์การเภสัชกรรม (GPO) เซ็นสัญญาซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด กับ “เวิลด์ เมดิคอลฯ และ ออสท์แลนด์ฯ” ผู้ชนะประมูล ที่ประกาศพร้อมส่งมอบล็อตแรก 7 ก.ย.นี้ ก่อนทยอยส่งจนครบภายใน 14 วันหลังจากนี้ อีกด้านหนึ่งมีการออกจดหมายเปิดผนึกโต้ ส.ส. ฝ่ายค้าน ยืนยัน อภ. ไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายให้ซิโนแวค

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ในวันนี้ (30 สิงหาคม 2564) ได้ลงนามสัญญากับบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ ประเทศไทย จำกัด เพื่อจัดซื้อ ATK แบบตรวจด้วยตนเอง จำนวน 8.5 ล้านชุด ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( สปสช. ) และโรงพยาบาลราชวิถี หลังจากเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ที่คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ตามโครงการพิเศษของ สปสช. ได้เห็นชอบราคาชุดตรวจ ATK ตามที่องค์การฯ เสนอ และให้โรงพยาบาลราชวิถีดำเนินการจัดซื้อจากองค์การฯ ต่อไป

ทั้งนี้ ATK ทั้งหมด บริษัทจะนำเข้ามา และจัดส่งให้หน่วยบริการจำนวนกว่า 1,000 แห่ง ตามที่ สปสช.กำหนด ภายใน 14 วันหลังจากลงนามสัญญา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างที่ สปสช.กำหนดสถานที่จัดส่งที่ชัดเจน

โดยก่อนนำ ATK ไปจัดส่งให้หน่วยบริการต่างๆ นั้น จะมีคณะกรรมการตรวจรับสินค้าตาม TOR โดยตรวจประเมินจากใบตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ (COA) หรือเอกสารรับรองผลิตภัณฑ์ว่ามีคุณภาพเป็นไปตาม TOR ของผู้สั่งซื้อ จากนั้นจะทำการสุ่มตัวอย่างไปทดสอบคุณภาพที่ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยทำการตรวจวิเคราะห์ในหัวข้อ ความไวเชิงวินิจฉัย (Diagnostic sensitivity) ความจำเพาะเชิงวินิจฉัย (Diagnostic specificity) ความไม่จำเพาะต่อเชื้อ (Non-Specificity) ตามเกณฑ์การทดสอบที่ อย.กำหนด

เมื่อผลการทดสอบคุณภาพผ่านก็จะกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่หน่วยบริการต่อไป ขณะเดียวกันองค์การฯ จะทำการสุ่มตัวอย่าง เพื่อเก็บเป็นตัวอย่างอ้างอิงในการตรวจวิเคราะห์ หลังจากการนำไปใช้งาน (Retained Sample) ควบคู่กันไปด้วย ในกรณีมีข้อร้องเรียนจากผู้บริโภค ทางบริษัทผู้จำหน่ายจะต้องสืบหาสาเหตุ และแนวทางการป้องกัน แจ้งมายังองค์การฯ เพื่อประเมินและติดตามผลการแก้ไขป้องกันปัญหาดังกล่าวต่อไป ในกรณีที่มีปัญหาคุณภาพจนต้องมีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ (Recall) บริษัทผู้จำหน่ายต้องเรียกเก็บผลิตภัณฑ์คืน พร้อมชดใช้และแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภค และทำรายงานผลการเรียกเก็บผลิตภัณฑ์คืน ส่งให้องค์การฯ ทำการประเมินประสิทธิผลของการเรียกคืนทุกครั้ง

ด้าน นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) จำกัด และ กรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนจำหน่าย ATK ของ “ออสท์แลนด์ แคปปิตอล” และเป็นผู้ชนะการเสนอราคาในโครงการพิเศษของ สปสช. กล่าวว่า บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ และ ออสท์แลนด์ฯ รู้สึกยินดีมากที่ได้รับโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการนำชุดตรวจ ATK ของ Lepu มาให้คนไทยได้ใช้ตรวจคัดกรองโควิดผ่านโครงการดีๆ ของภาครัฐ วันนี้เมื่อทุกอย่างเคลียร์ชัดเจน ทั้งเรื่องของคุณภาพของ ATK ที่ผ่านการรับรองทั้งของ อย.ประเทศไทย และยังได้รับการรับรองคุณภาพจากหลายประเทศในยุโรปแล้ว

นอกจากนั้น เพื่อเป็นการตอกย้ำและเพิ่มความมั่นใจในเรื่องคุณภาพให้แก่คนไทย บริษัทยินดีให้องค์การฯ สุ่มตัวอย่างอ้างอิงตามที่องค์การฯ กำหนด เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในคุณภาพสินค้าที่ได้รับ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่นอกเหนือจาก TOR ที่กำหนดไว้

ด้วยกำลังการผลิตของบริษัทผู้ผลิตซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่มากระดับรัฐวิสาหกิจของประเทศจีน จึงมั่นใจได้ว่าโรงงานจะสามารถผลิต ATK พร้อมส่งมอบทั้งหมดได้ทันกับเวลาที่กำหนดไว้แน่นอน โดย ATK ทั้งหมดจะจัดส่งทางเครื่องบินเช่าเหมาลำ คาดว่าล็อตแรกจะจัดส่งมาในวันที่ 7 กันยายน 2564 โดยภายใน 14 วันหลังจากลงนามสัญญาจะทยอยส่งมอบและจัดส่งครบ 8.5 ล้านชุด ถึงหน่วยบริการกว่า 1,000 แห่ง ตามที่องค์การฯ และ สปสช.กำหนด จัดเก็บและกระจายโดยบริษัทขนส่งที่ชำนาญในด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะ มีการควบคุมความเย็น เพื่อให้ ATK ดังกล่าวมีคุณภาพเต็มที่จนถึงมือประชาชน

“บริษัทมีความมั่นใจในคุณภาพ ATK ของ Lepu ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ด้วยหลักฐานที่ชัดเจนสามารถพิสูจน์ได้ หากยังมีการด้อยค่าผลิตภัณฑ์แบบไม่เป็นธรรมกับบริษัททำให้มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ ทางบริษัทฯ จะให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการขั้นต่อไปอย่างเด็ดขาด อีกทั้งทางบริษัทยังได้แจ้งไปยังโรงงานของ Lepu ผู้ผลิตที่ประเทศจีน ถ้าหากผู้ผลิตจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างไรต่อผู้กล่าวหาผลิตภัณฑ์ด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง สร้างความเสื่อมเสียเรื่องชื่อเสียงต่อผลิตภัณฑ์ ทางบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ฯ ยินดีจะช่วยเหลือและส่งเอกสารข้อมูลให้ผู้ผลิตทั้งหมด เพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไป” นางศิริญา กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาของวันนี้ องค์การเภสัชกรรมเผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ถึง พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และสื่อมวลชนทุกท่าน เรื่อง แถลงการณ์ องค์การเภสัชกรรม จัดซื้อวัคซีนซิโนแวค ตามความต้องการของกรมควบคุมโรค ที่สอดคล้องกับมติ ครม. นำเข้าและขึ้นทะเบียนได้ เพื่อกระจายให้หน่วยบริการ เร่งฉีดให้ประชาชนฟรี โดยไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่อย่างใด โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ตามที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบ (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้กล่าวอภิปรายในสภาฯ รวมถึงได้โพสต์เฟซบุ๊ก ในประเด็น “องค์การเภสัชกรรม” เป็นผู้แทนการขายให้บริษัทผู้ผลิต “วัคซีนซิโนแวค” น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและจริยธรรมองค์การเภสัชกรรม และความตอนหนึ่งว่า การที่รัฐบาลยอมให้ “องค์การเภสัชกรรม” เป็นตัวแทนของบริษัทยาเอกชนจากประเทศจีน ให้บริการวัคซีนที่มีคุณภาพด้อยที่สุดเมื่อเทียบกับวัคซีนอื่น จึงไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมายและจริยธรรม ทั้งนี้เพราะองค์การเภสัชกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจ ตาม พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509 มีวัตถุประสงค์ผลิตยาและเวชภัณฑ์ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน (มาตรา 31) หน้าที่หลัก คือ การเตรียมความพร้อมทางด้านเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ในราคาที่เป็นธรรมโดยไม่ได้มุ่งเน้นแสวงหากำไรใดๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามเกิดวิกฤติและฉุกเฉิน เงินที่นำไปซื้อวัคซีนเป็นภาษีประชาชน ต้องนำไปซื้อสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ให้ประชาชนมีความคุ้มค่า มีการใช้จ่ายอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ

องค์การเภสัชกรรมขอเรียนชี้แจงว่า “องค์การเภสัชกรรมไม่ได้เป็นตัวแทนของบริษัทยาเอกชนจากประเทศจีน” ตามที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้กล่าวไว้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

องค์การเภสัชกรรมดำเนินการจัดหาวัคนซิโนแวค ตามที่กรมควบคุมโรค แจ้งความต้องการมา และเป็นไปตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบและวงเงินในการจัดหาตามที่กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอ ซึ่งวัคซีนซิโนแวคเป็นหนึ่งในห้าชนิดของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ภาครัฐมีนโยบายในการจัดหาและนำเข้ามาฉีดให้กับประชาชนฟรีและเมื่อย้อนไปดูมติ ครม.เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ได้เห็นชอบให้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมประชากรไทยในปี 2564 โดยมีวัคซีน AstraZeneca เป็นวัคซีนหลัก และให้มีการจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม โดยกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาความเร่งด่วนเพื่อให้ได้มีวัคซีนมาฉีดในช่วงต้นปี 2564 จึงได้เจรจาซื้อวัคซีนซิโนแวคกับบริษัท Sinovac Life Sciences Co., Ltd., People’s Republic of China ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเดียวที่สามารถส่งให้ประเทศไทยอย่างเร่งด่วนได้ ภายในช่วงต้นปี 2564 จำนวน 2 ล้านโดส

องค์การเภสัชกรรมได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นตัวแทนภาครัฐ ในการเป็นผู้นำเข้าและยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนชิโนแวค จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยได้รับอนุมัติทะเบียนให้ใช้ในประเทศไทยได้ในภาวะฉุกเฉิน (Emergency use) เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งวัคซีนซิโนแวคทั้งหมดที่องค์การฯ นำเข้า ได้ส่งให้กรมควบคุมโรคจัดสรรและกระจายให้หน่วยบริการต่างๆ ฉีดฟรีให้กับประชาชน โดยองค์การฯ ไม่ได้จำหน่ายโดยทั่วไป และไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่อย่างใด เนื่องจากนำเข้าวัคซีนในช่วงเวลานี้ เป็นการนำเข้าเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน ไม่ได้นำเข้าเพื่อการพาณิชย์ องค์การฯ จึงไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่าย

วัคซีนชิโนแวคล็อตแรกนำเข้ามาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแผนการควบคุมและป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข นับถึงปัจจุบัน (วันที่ 24 สิงหาคม 2564) ได้มีการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคแล้วจำนวน 19.5 ล้านโดส และเมื่อรวมที่ประเทศจีนบริจาคให้อีกจำนวน 1 ล้านโดส จึงรวมเป็นทั้งสิ้น 20.5 ล้านโดส

องค์การเภสัชกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509 คือ ผลิตยาและเวชภัณฑ์ ส่งเสริมให้มีการศึกษาและวิจัย การผลิต การวิเคราะห์ ยาและเวชภัณฑ์ วัตถุดิบ ดำเนินการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนและให้ซึ่งยาและเวชภัณฑ์ ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยาและเวชภัณฑ์

นอกจากนั้น องค์การเภสัชกรรมดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรหลักเพื่อความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์ของประเทศที่มีนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าและยั่งยืน” และได้ปฏิบัติภารกิจให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ เน้นย้ำในการทำหน้าที่เชิงสังคมให้มากยิ่งขึ้นในเรื่องผลิต จำหน่ายและบริการยาและเวชภัณฑ์ ที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล ผลิตยาที่จำเป็นและสำรองยาในยามฉุกเฉิน เพื่อความมั่นคงของชาติรวมถึงยาที่มีความจำเป็นต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ดำเนินธุรกิจให้มีศักยภาพในการแข่งขันในอาเซียนและสามารถพึ่งตนเองได้และมีธรรมาภิบาล รักษาระดับราคายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อสังคมไทยเพื่อประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมทางยาและเวชภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อตอบสนองความต้องการ และความจำเป็นต่อสังคมไทย

“องค์การเภสัชกรรมของเรายึดมั่น มุ่งเน้น ดำเนินภารกิจเชิงสังคม เพื่อสร้างการเข้าถึงยา วัคซีนและเวชภัณฑ์ ให้แก่ระบบสาธารณสุขไทย ทั้งในยามปกติ และภาวะวิกฤติ ภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้ประเทศมีความเข้มแข็ง มั่นคงและยั่งยืน”

mm88