แพทย์เตือน “ไข้เลือดออก” ยังระบาด ยังอันตราย ยิ่งแข็งแรง ยิ่งเสี่ยงสูง

0
130
สมัคร mm88

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของระบบสาธารณสุข ชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งโรคที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้คือ ไข้เลือดออก โรคที่เกิดจากพาหะนำโรคอย่างยุงลาย ที่มีการระบาดในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทย ซึ่งการติดเชื้อไข้เลือดออกอาจทำให้อาการรุนแรงและหากมีอาการแทรกซ้อนอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ความรู้ ความเข้าใจในตัวโรคในภาคประชาชนและบุคลากรด้านสาธารณสุข และความตระหนักรู้ในการป้องกันโรค จะช่วยลดอุบัติการณ์เกิดโรค ความรุนแรงของโรค และการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้

คนไทยยังเผชิญปัญหาไข้เลือดออกระบาดอย่างต่อเนื่องหลายปี

ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา การระบาดของไข้เลือดออกในประเทศไทยนั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนผู้คนกว่า 350,000 รายที่ต้องเจ็บป่วยจากโรคนี้ โดยในปี พ.ศ. 2562 มีจำนวนผู้ป่วยพุ่งสูงกว่า 130,000 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล และหากเป็นการระบาดร่วมกับโรคอื่นๆ จะยิ่งนำพามาซึ่งภาระทั้งตัวผู้ป่วย ครอบครัว และระบบสาธารณสุขของประเทศ

ทำไมไข้เลือดออกถึงระบาดได้ง่าย

ศาสตราจารย์แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ระบุว่า ไข้เลือดออกเกิดจากยุงลายที่อยู่ทั้งในป่าและในเมือง ทำให้มีการแพร่กระจายมาก ควบคุมยาก

นอกจากนี้ ยุงลายยังพบได้ง่ายมาก เช่น ในแก้วน้ำพลาสติกที่เราทิ้งแล้วมีน้ำขัง ยุงวางไข่ได้ในที่มีน้ำขัง ไม่ว่าจะน้ำใช้ในบ้าน โอ่งน้ำ จานรองกระถางต้นไม้ กล่องข้าว ถ้วยกาแฟพลาสติก  เราจึงต้องช่วยกันลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ขนาดน้ำฝนที่อยู่กาบใบไม้ก็วางไข่ได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

ไข้เลือดออก จะยังคงแพร่ระบาดอยู่ได้ทุกเมื่อ หากยังมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอยู่ นอกจากนี้ความแปลกของโรคคือ พวกเราอาจจะติดเชื้อกันแล้วครั้งแล้วครั้งเล่า ทุกครั้งที่ติดเชื้ออาจจะไม่มีอาการ  คนที่แสดงอาการอาจจะมีแค่ 20-30% เท่านั้น ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ เมื่อคนที่ติดเชื้อไม่มีอาการถูกยุงกัด ยุงก็จะแพร่โรคต่อเมื่อไปกัดคนอื่นต่อ การติดเชื้อไม่มีอาการเยอะทำให้ไข้เลือดออกระบาดได้ง่าย

การติดเชื้อครั้งแรกอาจจะไม่มีอาการ ครั้งที่สองอาจจะเริ่มมีนิดหน่อย พอครั้งที่ 3, 4 อาจจะไม่มีอาการ แต่เราเองก็เป็นตัวพาไวรัสไปตามที่ต่างๆ การป้องกันยุงกัดสำคัญมาก

กลุ่มเสี่ยงโรคไข้เลือดออก

กลุ่มคนที่เสี่ยงโรคไข้เลือดออกมากที่สุด คือกลุ่มคนอายุน้อย น้ำหนักเยอะ และมีสุขภาพแข็งแรง

ไข้เลือดออก วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว ร่างกายแข็งแรง เสี่ยงอันตรายสูง

แพทย์หญิงดารินทร์ อารีย์โชคชัย รองผู้อำนวยการกอง สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคไข้เลือดออกพบมากในเด็กวัยเรียนอายุ 5-14 ปีมากที่สุด คิดเป็น 25% ของผู้ป่วยทั้งหมดแต่มีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าวัยรุ่น เด็กเล็กและคนแก่ ผู้ที่ติดเชื้อมากที่สุดรองลงมาเป็นกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น อายุ 15-24 ปี แต่กลุ่มนี้เสียชีวิตมากขึ้น เนื่องจากวัยรุ่นมักทน หรือซื้อยากินเอง หรืออยู่คนเดียว เมื่อไม่สบายก็ซื้อยากินเอง จึงไปหาหมอช้า

ศาสตราจารย์แพทย์หญิงกุลกัญญา ระบุว่า แต่เดิมโรคไข้เลือดออกในเด็กมักมีอาการรุนแรงมากกว่า แต่ปัจจุบันพบว่าผู้ใหญ่ที่ติดไข้เลือดออกมักมีอาการรุนแรงมากกว่า เพราะคนรุ่นใหม่ตอนเด็กๆ อยู่ในคอนโด อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เจอยุง จึงไม่มีการติดเชื้อมาก่อน พอมาติดเอาตอนโต อาการจะรุนแรงกว่า นอกจากนี้โรคไข้เลือดออกยังคงเป็นโรคของคนอายุน้อยมากกว่าคนแก่อีกด้วย

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประหลาด คนที่แข็งแรงที่สุดคือคนที่เสี่ยงที่สุด คนที่ไม่แข็งแรงหรือมีภูมิต้านทานน้อยกลับมีความเสี่ยงต่ำกว่า พ่อแม่จึงกลัวไข้เลือดออกมากที่สุด เพราะไข้เลือดออกเป็นโรคที่ล้มคนแข็งแรงได้ในไม่กี่วัน เพราะโรคนี้ตัวไวรัสเองไม่ค่อยเท่าไหร่ ถ้าติดเชื้อ ร่างกายจะพยายามกำจัดไวรัสให้เร็วที่สุด การกำจัดไวรัสเหมือนกับเราอยู่ในสงคราม เรายิงปืนฆ่าศัตรู ผลก็เลยทำให้บ้านพังไปด้วย หรือเกิดการอักเสบอันเกิดจากปฏิกิริยาโต้ตอบในการฆ่าไวรัส ความรุนแรงของอาการเกิดจากกระบวนการต่อสู้กับไวรัส 

นอกจากนี้ แพทย์หญิงดารินทร์ ยังระบุเพิ่มเติมว่า คนรุ่นใหม่ มีจำนวนคนอ้วนเยอะขึ้น แข็งแรงมากขึ้น เมื่อติดไข้เลือดออกมักมีอาการรุนแรงมากกว่า และ 20% ของคนที่เสียชีวิตจากไข้เลือดออกมักมีภาวะน้ำหนักเกิน

อย่างไรก็ตาม โรคที่มียุงเป็นพาหะจะเหมือนกันตรงที่คนที่มีอาการมีจำนวนน้อย คนไม่มีอาการมีจำนวนมาก ทำให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้าง แต่โรคอื่นนั้นเมื่อติดเชื้อแล้วจะมีภูมิคุ้มกัน ขณะที่ไข้เลือดออกติดเชื้อแล้วก็ติดอีกได้ ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อแต่ละครั้งไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อรอบใหม่ได้ 

สัญญาณอันตรายของโรคไข้เลือดออก

อาการส่วนใหญ่มาพบหมอด้วย

  • มีไข้สูง 
  • ปวดหัว 
  • ปวดเมื่อยตัว 
  • หน้าแดง 
  • คลื่นไส้ อาเจียน 
  • กินข้าวไม่ได้ 
  • ปวดกระบอกตา 
  • ปวดท้อง ถ้าปวดท้องด้านขวาบนอาจเกิดตับอักเสบ 
  • ถ้าอาการรุนแรงจะอาเจียนมาก  ถ้าเจาะเลือดดูมักมีเกร็ดเลือดต่ำอย่างรวดเร็ว ค่าตับสูง ตับบวม ตับอักเสบ  

ถ้ามีอาการแบบนี้ต้องรีบไปโรงพยาบาล

  • เลือดออกมาก 
  • เกร็ดเลือดต่ำ 
  • เลือดออกง่าย 
  • ถ่ายดำ 
  • เลือดออกตามผิวหนัง 
  • อาเจียนเป็นเลือด
  • ช็อก 
  • เหงื่อออก ตัวเย็น ซึ่งอันตรายเพราะบางคนคิดว่าไข้ลงแล้ว แต่จริงๆ ตัวเย็นนี่คือช็อก
  • อวัยวะบางอย่างถูกทำลาย ล้มเหลว ถูกคุกคามอย่างรุนแรง เช่น สมอง ถ้าไข้เลือดออกขึ้นสมอง อาจชัก อาการเหมือนสมองอักเสบ ตับวาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ฯลฯ  

เป็นไข้เลือดออกรุนแรงมากๆ ต่อให้ถึงมือหมอที่เก่งที่สุด ก็อาจตายได้ บางรายต่อให้มาถึงหมอเร็วก็ตายได้เหมือนกัน แต่การหาหมอเร็วก็จะลดอัตราการตายได้เยอะ ในประเทศไทยอัตราการตาย 1 ใน 1,000 ถือว่าน้อยมาก บางประเทศในอาเซียน เช่น อินโดนีเซียมีอัตราการตายสูงกว่านี้มาก อาจจะถึง 10 เท่าของไทย

วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก

คู่มือรู้ทันโรคและภัยสุขภาพสำหรับประชาชน โดยสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงวิธีป้องกันยุงลายเอาไว้ ดังนี้

  1. ป้องกันยุงลายกัด ยุงลายมักจะกัดคนในเวลากลางวัน ควรนอนในมุ้งหรือติดมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุงเข้ามาในบ้าน หลีกเลี่ยงการอยู่บริเวณมุมอับชื้น ทายากันยุงที่สกัดจากพืชธรรมชาติ
  2. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดไป ยุงลายจะเพาะพันธุ์ในน้ำใส ในภาชนะที่เก็บน้ำใช้ในบ้าน เช่น โอ่งน้ำ ถ้วยรองขาตู้กันมด แจกันดอกไม้ ภาชนะนอกบ้านที่มีน้ำขัง เช่น ยางรถยนต์ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายกระทำได้โดย
  • ภาชนะที่ใช้เก็บน้ำต้องมีฝาปิดให้มิดชิด
  • ใช้ทรายกำจัดลูกน้ำใส่ในภาชนะขังน้ำ
  • ทำลายภาชนะที่ไม่จำเป็น เพราะอาจมีน้ำขังได้
  • ปล่อยปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูงในภาชนะที่มีน้ำขังขนาดใหญ่ เช่น อ่างบัว
  • เปลี่ยนน้ำในภาชนะเล็กๆ เช่น แจกันทุก 7 วัน
  • ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้านให้เป็นระเบียบ
  • ขัดขอบภาชนะทุกครั้งที่เปลี่ยนน้ำเพื่อทำลายไข่ยุงลาย

Dengue-Zero เดินหน้าวางแผนงาน 5 ปี เพื่อร่วมผลักดันประเทศไทย สู่สังคมปลอดไข้เลือดออก

ด้วยตระหนักถึงความรุนแรงหากเกิดการระบาดของไข้เลือดออกซึ่งมียุงเป็นพาหะ การส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับไข้เลือดออกที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน การพัฒนาและต่อยอดระบบการป้องกันที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมการระบาดและพาประเทศไทยเข้าสู่สังคมปลอดไข้เลือดออก จึงเป็นที่มาของความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐและเอกชนจำนวน 11 องค์กร ได้แก่ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  กรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย  สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย และบริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้บันทึกความเข้าใจ Dengue-Zero ภายใต้กรอบการทำงานร่วมกันนี้ ได้ตั้งเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่

  • ลดอัตราการป่วยจากไข้เลือดออกลงให้ได้ร้อยละ 25 หรือให้ไม่เกิน 60,000 รายต่อปี
  • ลดอัตราการเสียชีวิตให้ต่ำกว่า 1:10,000 ราย
  • ควบคุมแหล่งลูกน้ำยุงลายในชุมชนให้ต่ำกว่า 5 หลังคาเรือน จากการสำรวจ 100 หลังคาเรือน

โดยพันธกิจร่วมนี้จะต้องลุล่วงภายใต้กรอบการทำงานระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2569) ซึ่งองค์กรพันธมิตรดังกล่าวจะร่วมกันผลักดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันไข้เลือดออกผนึกกำลังป้องกันและลดความเสี่ยงต่อไข้เลือดออก รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการป้องกันและควบคุมโรค ตลอดจนสนับสนุนนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมไข้เลือดออก

mm88