ธัชนนท์ คชชาสุวรรณ : จากผู้สร้างปรากฏการณ์ “สงขลาฟีเวอร์” สู่คนทำมวยที่บริหารแบบทีมบอล

0
151
สมัคร mm88

“ผมก็ไม่เคยคิดเหมือนกันนะว่าวันหนึ่งจะได้มาทำค่ายมวยไทย เพราะที่ผ่านมาเราเคยทำแต่ฟุตบอล เป็นผู้จัดการทีมสงขลา เอฟซี ตั้งแต่สมัยมีคนดูไม่ถึง 400 คน จนถึงวันที่สร้างปรากฏการณ์สนามแตก คนดูเข้ามาล้นความจุสนาม 36,715 คน”

“เพราะเราเป็นคนชอบฟุตบอล เราจึงถอดโครงสร้างของทีมฟุตบอลอาชีพมาปรับใช้กับค่ายมวย เราทำอะคาเดมี มีทีมสเกาท์ไปส่องเด็ก ๆ ที่มีแววมาปลุกปั้นต่อ จ้างทีมงานโค้ชที่เคยมีดีกรีระดับแชมป์โลก, ระดับยอดมวยไทย และใส่เรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้าไป” 

10 ปีที่แล้ว “หนึ่ง-ธัชนนท์ คชชาสุวรรณ” ยืนอยู่ในสนามกีฬาติณสูลานนท์ ท่ามกลางบรรยากาศอันน่าเหลือเชื่อ เมื่อทีมฟุตบอลสงขลา เอฟซี ที่เขาร่วมปลุกปั้นขึ้นมา สามารถปลุกกระแสความนิยม จนสร้างปรากฏการณ์ “สงขลาฟีเวอร์” ที่คนล้นทะลักสนาม ในแมตช์ที่เจอกับ บุรีรัมย์ เอฟซี กลายเป็นสถิติผู้ชมสูงสุดตลอดกาลของฟุตบอลลีกอาชีพไทย

 

วันเวลาผ่านไป 1 ทศวรรษจากวันนั้น “ธัชนนท์” บอกกับเราว่า ความหลงใหลแพชชั่นต่อเกมลูกหนังของเขายังไม่เคยหายไป แม้เขาจะเลิกทำทีมฟุตบอลมาหลายปีแล้ว เพียงแต่เขาเอาหยิบจับนำเอาโครงสร้างโมเดลทีมลูกหนังอาชีพมาประยุกต์ใช้กับการทำค่ายมวยไทยของตัวเองนามว่า “ค่ายมวยสิงห์มาวิน”

หันหลังให้ฟุตบอล  

แฟนพันธ์ุแท้ คือรายการทีวีระดับตำนานที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้ชม ด้วยรูปแบบรายการที่เฟ้นเอา 5 สุดยอดผู้รู้ลึก รู้จริง และมีความสนใจเฉพาะด้านมาแข่งขัน เพื่อหาว่าใครคือ “แฟนพันธุ์แท้” ในเรื่องนั้น ๆ 

หากจะถามว่า ธัชนนท์ คชชาสุวรรณ ชื่นชอบฟุตบอลมากเพียงใด ? การได้เข้าร่วมแข่งขันรอบสุดท้ายรายการแฟนพันธุ์แท้ ตอน ยูโร ปี 2004 และตอน ฟุตบอลโลก ปี 2006 คงเป็นคำตอบอย่างดีได้ว่า เขาชอบเกมลูกหนังเข้าเส้นขนาดไหน ?

 

“ผมไปแข่งแฟนพันธ์ุแท้ฟุตบอลโลกในตอนนั้น ก็เพราะเห็นว่าของรางวัลเป็นตั๋วไปดูบอลโลก” ธัชนนท์ กล่าวถึงความหลังอย่างอารมณ์ดี

จากความชื่นชอบฟุตบอลอย่างลุ่มลึก วันหนึ่ง “ธัชนนท์” ก็ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานกับสโมสร สงขลา เอฟซี ในตำแหน่งผู้จัดการทีม 

นั่นเป็นช่วงเวลาที่ ธัชนนท์ ได้ทำความรู้จักกับ “ฟุตบอล” ในมุมที่ลึกกว่าที่เขาเคยอ่านและศึกษาผ่านตัวหนังสือ เพราะเขาได้ลงมือทำด้วยตัวเอง และเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองผู้ขับเคลื่อนให้เกิดกระแส “สงขลาฟีเวอร์” 

อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวทางความเห็นที่ไม่ตรงกันกับผู้บริหารท่านอื่น “ธัชนนท์” จึงโบกมือลาทีมสงขลา เอฟซี หลังจบฤดูกาล 2011 จากนั้นจึงย้ายไปทำงานเป็นผู้จัดการทีม สุพรรณบุรี เอฟซี ในปี 2012 ไปช่วยงานเบื้องหลังจนทีม “ช้างศึกยุทธหัตถี” ตีตั๋วเลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดได้สำเร็จ

 

เหตุผลที่ ธัชนนท์ ตัดสินใจหันหลังให้ฟุตบอลอาชีพอย่างจริงจัง เนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมาเขาทุ่มเงิน อุทิศเวลา และแรงกายไปกับการทำทีมฟุตบอลมากสมควร จึงอยากกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม คือได้ดูแลกิจการธุรกิจ รวมไปถึงการมีเวลาว่างออกไปดูฟุตบอลที่ต่างประเทศแบบที่เคยเป็นมา

ตู้คอนเทนเนอร์

“มันเหมือนเรื่องบังเอิญมากกว่านะ” บอสใหญ่ค่ายมวยสิงห์มาวิน ย้อนถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาได้กลับคืนสู่วงการกีฬาเมื่อประมาณ 6 ปีก่อน 

“ตอนนั้นผมขับรถไปรับเพื่อนมาจากประเทศมาเลเซีย ระหว่างทางก็ผ่านสนามมวยลุมพินี แล้วผมก็สังเกตเห็นหน้าทางเข้ามีคนเยอะมาก เลยชวนเพื่อนแวะเข้าดู”

 

“วันนั้นมันเหมือนจุดประกายให้ผมอยากทำค่ายมวยไทยเป็นของตัวเอง เพราะทำค่ายมวย เราน่าจะหาเวลาได้ไม่ยาก สเกลมันเล็กกว่าทีมฟุตบอลที่เราต้องใช้เวลากับมันค่อนข้างเยอะ”

ด้วยพื้นฐานนิสัยที่ชอบกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ “ธัชนนท์” จึงตัดสินใจเปิดค่ายมวยเล็ก ๆ ขึ้นมาในชื่อค่ายมวยสิงห์มาวิน แม้ตัวเองจะไม่มีประสบการณ์การทำมวยมาก่อน เคยทำแต่ทีมฟุตบอล แต่เขาก็อยากลองดูสักตั้งกับมวยไทย 

ธัชนนท์ เริ่มต้นจากการเช่าพื้นที่ข้างสนามฟุตบอลหญ้าเทียม ย่านลาดปลาเค้า กรุงเทพมหานครฯ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เขาทำ โดยได้ยกเอาตู้คอนเทรนเนอร์มาดัดแปลงทำเป็นห้องนอนนักมวย ลองผิดลองถูก ค่อย ๆ เก็บเล็กผสมน้อย เรียนรู้ในทุก ๆ วัน เพราะเขาใหม่มากสำหรับการทำมวยไทย 

จากที่เคยเป็นแค่กิจกรรมยามว่าง ในการทำค่ายมวยเล็ก ๆ ผ่านไป 2-3 ปี “ธัชนนท์” ก็เริ่มชอบมวยไทยแบบถอนตัวไม่ขึ้น

 


เขาจึงตัดสินใจลุยเต็มสูบ ด้วยการลงทุนสร้างยิมมวยมาตรฐาน เป็นตึก 4 ชั้น บนเนื้อที่ 2 ไร่ครึ่ง ย่านซอยนวลจันทร์ 54 เพื่อให้นักมวยได้กินอยู่ หลับนอน ฝึกซ้อมที่นี่อย่างครบวงจร 

โดยแบ่งพื้นที่ชั้นล่างสุดใช้เป็นห้องประชุมทีมระหว่างเทรนเนอร์กับนักมวย วางแผนการเตรียมตัวฟิตซ้อม ก่อนที่นักมวยแต่ละคนจะออกไปขึ้นสังเวียนการแข่งขัน และด้านหลังเป็นห้องครัวสำหรับเตรียมอาหารให้ทีมงานและนักกีฬา


ชั้น 2 เป็นเวทีขนาดใหญ่ 2 เวที พร้อมอุปกรณ์ฟิตเนสที่จำเป็นกับนักมวย ส่วนชั้น 3 ชั้น 4 เป็นห้องนอนของนักมวยและทีมงานเทรนเนอร์

 

“ผมกำลังปลูกบ้านข้าง ๆ ค่ายมวยเลย เพื่อจะได้ใกล้ชิดและดูแลนักมวยได้ง่ายขึ้น ผมต้องสร้างให้ค่ายมวยสิงห์มาวินมีสิ่งอำนวยความสะดวก โครงสร้างที่ทันสมัยเหมือนกับทีมฟุตบอลอาชีพชั้นนำ” 

ทำมวยแบบทีมบอลอาชีพ 

ธัชนนท์ เล่าย้อนไปว่า ในช่วงแรกที่ทำค่ายมวยสิงห์มาวิน เขายังไม่ได้มีความรู้ด้านมวยไทยมากนัก จึงให้เทรนเนอร์วางระบบทุกอย่างให้ แต่ปรากฏว่าวิธีการบางอย่างของทีมสตาฟชุดเก่าล้าสมัยไม่ได้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคปัจจุบัน

เขาจึงตัดสินใจรื้อระบบใหม่ โดยใช้หลักการทำทีมฟุตบอลที่เขาคุ้นเคยมาประยุกต์ใช้ ไล่มาตั้งแต่การเฟ้นหานักมวย ใช้วิธีการสเกาท์หานักมวยอายุน้อย โดยดูจากรูปร่างโครงสร้างหน่วยก้านและความสามารถที่ดูมีแววเอาไปปั้นต่อได้ เพื่อพามาดูแลและฝึกฝนต่อ

“เราไม่เน้นร่วมงานกับยอดมวยเงินแสนชื่อดัง แต่จะเอาเด็ก ๆ อายุน้อยที่เราไปสเกาท์ เอามาปั้นเป็นมวยดัง ค่าตัวเงินแสน เขากับเราจะได้โตไปพร้อมกัน”

“ผมจะเลือกเด็กในช่วงอายุ 15-17 ปี ที่มีสรีระรูปร่างสูงยาวไม่เสียเปรียบใคร เทียบจากเกณฑ์มาตรฐานชายไทยเลย เด็กอายุ 15 ปี ต่ำสุด 145-157 ซม. สูงสุด 177-185 ซม. เพราะเราไปนึกถึงผู้รักษาประตูของทีมฟุตบอล ยิ่งรูปร่างดียิ่งได้เปรียบ หรือดูจากรูปร่างของพ่อ-แม่ของเด็กคนนั้น ๆ”

“อย่าง ตะเภาแก้ว สิงห์มาวิน เราเอามาสร้างตั้งแต่เขาน้ำหนักไม่ถึง 100 ปอนด์ ตอนนี้กลายเป็นมวยค่าตัวเงินแสนไปแล้ว” ธัชนนท์ ยกตัวอย่างความสำเร็จของผลผลิตจากระบบอะคาเดมีที่เขาวางไว้

เมื่อได้ทรัพยากรดาวรุ่งอายุน้อยที่มีศักยภาพพอจะเอาไปปลุกปั้นต่อได้แล้ว ต่อมา “ธัชนนท์” ก็ตัดสินใจลงทุนจ้างเทรนเนอร์ชุดใหม่ ที่ล้วนแล้วแต่มีดีกรีเป็นถึงระดับแชมป์โลกและยอดมวยถ้วยพระราชทาน 

นำโดย นำศักดิ์น้อย ยุทธการกำธร อดีตยอดมวยถ้วยพระราชทาน ประจำปี พ.ศ. 2539, เก้าล้าน เก้าวิชิต อดีตยอดมวยถ้วยพระราชทาน ประจำปี พ.ศ. 2541 และ เด่นเก้าแสน กระทิงแดงยิม อดีตแชมป์โลกรุ่นฟลายเวท สมาคมมวยโลก (WBA) 

“ค่ายเรามีจุดเด่นคือ ทำมวยมวยเข่าแข็งแรง แต่ 6 ปียังไม่เคยใช้หมัดต่อยใครนับหรือน็อกเลย เราจึงทาบทามจ้างเด่นเก้าแสนมาเสริมสร้างทักษะการใช้หมัดให้กับนักมวยทุกคนให้ค่าย” 

“อันที่จริงด้วยดีกรีระดับเด่นเก้าแสน เขาไปทำงานเมืองนอกได้สบาย ๆ  แต่เราก็ขอให้เขามาช่วยสร้างเด็ก ๆ ของเรา เพราะเราเชื่อมั่นในความสามารถของโค้ชทั้ง 3 ท่าน เขาต้องการอะไรก็ให้บอก เราพร้อมสนับสนุนเต็มที่”

นอกจากนี้ นายใหญ่แห่งค่ายสิงห์มาวินยังได้ว่าจ้างนักวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาดูแลนักมวยในค่ายเพิ่มเติม โดยทำงานร่วมกันกับทั้งเทรนเนอร์และตัวนักมวย เพื่อพัฒนาศักยภาพนักชกในสังกัดให้ยกระดับไปได้ยิ่งกว่าเดิม

6 ปี สำหรับคนภายนอกอาจจะดูเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน แต่สำหรับ “ธัชนนท์ คชชาสุวรรณ” เขามองว่ามันเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นในการสร้างทีมกีฬาอาชีพให้เติบโตอย่างยั่งยืน แม้ยังไม่รู้ว่านักชกดาวรุ่งทั้งหลายที่เขาดูแลจะผลิดอกออกผลวันใด แต่เขาก็เชื่อว่าสักวันหนึ่งต้นกล้าที่เขาเพาะปลูกด้วยความตั้งใจจะเบ่งบาน และออกไปเป็นนักมวยอาชีพที่สร้างชื่อให้กับประเทศไทย และค่ายมวยสิงห์มาวิน 

“ผมหวังว่าวันหนึ่ง นักมวยที่ผมสร้างขึ้นมาตั้งแต่น้ำหนักไม่ถึง 100 ปอนด์ เอามาดูแลตั้งแต่อายุ 13-14 ปี จะสามารถไปโกอินเตอร์ ได้ออกไปชกในต่างประเทศ” 

“นักมวยผมจะแพ้ตอนเด็กก็ได้ แต่ผมอยากเห็นเขาเก่งตอนโต ผมไม่ต้องการให้เขาชนะตอนเด็กเพื่อไปแพ้ตอนโต”

mm88