เบื้องหลังการไปยุโรปสุดวุ่นของ "ชา บอม กึน" แข้งเอเชียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบุนเดสลีกา

0
230

สมัคร mm88

เบื้องหลังการไปยุโรปสุดวุ่นของ "ชา บอม กึน" แข้งเอเชียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบุนเดสลีกา

“ปัญหาคือเราจัดการ ชาบูม ไม่ได้ เราไม่สามารถหยุดเขาได้เลย เขาหยุดไม่อยู่” อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เคยกล่าวเอาไว้สมัยคุม อเบอร์ดีน 

หากพูดถึงนักเตะเอเชียในยุโรป “ชา บอม กึน” ดาวยิงระดับตำนานเกาหลีใต้ น่าจะเป็นชื่อลำดับต้น ๆ ที่หลายคนนึงถึง เขาทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในบุนเดสลีกาให้กับ ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต และ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน จนได้รับการยกย่องให้เป็นนักเตะเอเชียที่เก่งที่สุดเท่าที่เคยมีมา 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเขาจะจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์มากมาย แต่การไปยุโรปครั้งแรกของเขาล้วนเต็มไปด้วยความวุ่นวาย และที่สำคัญมันไม่ได้มีสาเหตุมาจากฝั่งสโมสรเยอรมัน แต่กลับเป็นชาติบ้านเกิดของเขาเองติดตามเรื่องราวของมหากาพย์การย้ายทีมไปยุโรปของ “ชา บอม กึน” ไปพร้อมกับ Main Stand

จุดเริ่มต้นจากกองทัพ 

“นักเตะที่เกิดมาเป็นตำนาน” อาจจะเป็นคำจำกัดความที่ดีที่สุดของ ชา บอม กึน เขาเกิดในปี 1953 และเริ่มได้รับการจับตามองมาตั้งแต่สมัยเล่นให้โรงเรียนมัธยมปลายคยุงชิน รวมไปถึงติดทีมชาติชุดใหญ่ตั้งแต่อายุเพียงแค่ 18 ปี

หลังจบมัธยมปลายเขาเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเกาหลีในปี 1972 และที่แห่งนั้นก็ทำให้เขาชื่อของเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เมื่อ ชา สามารถพาทีมมหาวิทยาลัยคว้าถ้วย ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติเกาหลี (เอฟเอคัพเกาหลีในปัจจุบัน) ในปี 1974 ได้สำเร็จ 


Photo : ablenews.co.kr

ผลงานอันโดดเด่นในทีมมหาวิทยาลัย ทำให้ ชา กลายเป็นนักเตะเนื้อหอม และมีหลายทีมพากันจับจองตัวหลังเรียนจบ แต่สุดท้ายกลายเป็นสโมสรธนาคารโคเรีย ทรัสต์ ที่ได้ตัวเขาไปครอบครอง 

และมันก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องสำหรับธนาคารโคเรีย ทรัสต์ เมื่อ ชา ทำผลงานได้อย่างสุดยอดตั้งแต่ปีแรกที่มาถึง เขาพาทีมคว้าแชมป์ลีกกึ่งอาชีพเกาหลี ประจำฤดูใบไม้ผลิในปี 1976 พร้อมได้รับตำแหน่งนักเตะยอดเยี่ยมไปนอนกอด 

อย่างไรก็ดี แม้ว่า ชา จะมีฝีเท้าที่เก่งกาจแค่ไหน แต่ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งรอเขาอยู่ นั่นคือการเกณฑ์ทหาร เนื่องจากเกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่อยู่ในภาวะสงคราม (กับเกาหลีเหนือ) ทำให้ชายชาวเกาหลีทุกคนต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารโดยไม่มีข้อยกเว้น

ชา เองก็รู้ดีในเรื่องนี้ เขาอยากจะจัดการปัญหานี้ให้เสร็จสิ้น เพื่อที่จะได้สานต่อเส้นทางนักฟุตบอลโดยไม่ต้องกังวล ทำให้เขาตัดสินใจเข้ารับราชการทหารหลังจบฤดูกาลแรกกับธนาคารโคเรีย ทรัสต์ 

ในตอนแรกเขาตั้งใจจะเข้าสังกัดกองทัพเรือ เนื่องจากพวกเขามีสโมสรฟุตบอลที่แข็งแกร่งที่สุดในสามเหล่าทัพ และมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน แต่ข้อเสนอจากกองทัพอากาศก็ทำให้เขาหยุดคิด 

ความเป็นจริง กองทัพอากาศเป็นทีมเกิดใหม่หลังเพิ่งก่อตั้งในปี 1972 และแทบไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน เรียกได้ว่าเป็นรองกองทัพเรืออย่างสุดขีด การจะดึง “ว่าที่นักเตะที่เก่งที่สุดของเกาหลี” จึงดูเป็นเรื่องยาก ทำให้พวกเขายื่นข้อเสนอว่าจะช่วยลดเวลาการรับราชการ หาก ชา มาอยู่กับ ROK Air Force


Photo : maniareport.com

“ปกติแล้วการรับราชการในกองทัพอากาศจะใช้เวลา 35 เดือน แต่ผมสามารถทำให้คุณปลดประจำการได้ก่อน 5 เดือน” จู ยอง บ็อค เฮดโค้ชของ ROK Air Force บอกกับ ชา 

มันคือข้อเสนอที่ไม่เลว เพราะปกติแล้วการรับราชการนั้นกินเวลามากเกือบ 3 ปี สำหรับ ชา ที่กำลังมีอนาคตที่สดใสในเส้นทางฟุตบอล การได้ปลดประจำการยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งเป็นเรื่องดี ทำให้สุดท้ายเขาเลือกเข้าสังกัดกองทัพอากาศ  

และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของความวุ่นวาย

จดหมายถึงศาตราจารย์ 

การไปรับราชการทหารสำหรับบางคน อาจจะทำให้ฟอร์มของพวกเขาตกลง แต่มันก็ใช้ไม่ได้กับ ชา เมื่อเขายังทำผลงานได้อย่างสุดยอดกับทีมชาติเกาหลีใต้ ด้วยการยิงให้ทัพโสมขาวไปถึง 28 ประตูจาก 46 นัดในช่วงปี 1976-77 


Photo : .joins.com

ความยอดเยี่ยมของเขาในสีเสื้อทีมชาติ ทำให้ชื่อเสียงของเขาดังไปไกลถึงต่างประเทศ ว่ากันว่าในตอนนั้น มี 7 ทีมจากต่างแดนที่กำลังให้ความสนใจในตัวเขา โดยหนึ่งในนั้นคือสโมสรจากอเมริกาใต้ 

อย่างไรก็ดี พวกเขาก็แค่ให้ความสนใจเท่านั้น และไม่มีทีมไหนยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการ เพราะตอนนั้น ชา ยังมีสถานะเป็นทหาร บวกกับแทบไม่มีนักเตะเกาหลีคนไหนที่ย้ายไปค้าแข้งในลีกใหญ่ โดยเฉพาะยุโรปมาก่อน 

จนกระทั่งในเดือนกันยายน ปี 1978 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของการรับราชการทหาร ชา ถูกเรียกติดทีมชาติเกาหลีใต้ ลงบู๊ในถ้วยประธานาธิบดีพัค (เกาหลีคัพ) ที่มีทั้งทีมชาติและสโมสรเข้าร่วม ก่อนที่มันจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเขา 

ในทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวที่เกาหลีใต้เป็นฝ่ายคว้าแชมป์ ชา อาจจะไม่ได้โชว์ฟอร์มเปรี้ยงปร้าง เมื่อยิงไปเพียงแค่ 2 ประตู แต่ลีลาการเล่นของเขากลับไปเตะตา ดีเตอร์ ชูลต์ โค้ชของ ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต ที่พาทีมสำรองมาร่วมเตะในรายการนี้

 

เขาชื่นชอบฝีเท้าของ ชา มาก และมองว่านักเตะคนนี้จะมีอนาคตที่สดใสหากได้ไปค้าแข้งในยุโรป เขาจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับ Bandus บริษัทอุปกรณ์กีฬาสัญชาติสวิส  

“นี่คือนักเตะที่ยอดเยี่ยมที่สุดในเกาหลี  ผมมั่นใจว่านักเตะคนนี้จะประสบความสำเร็จถ้าเขามาเยอรมันตะวันตก โปรดช่วยลงทุนเพื่อนักเตะคนนี้” ชูลต์บอกกับว่าที่สปอนเซอร์ 

หลังจากปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านฟุตบอล Bandus ก็ตกปากรับคำ ชูลต์ โดยยินดีที่จะเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพาชามาเยอรมัน และหลังได้รับคำตอบ ชูลต์ ก็เขียนจดหมายไปหา พัค ดองฮี ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคอนกุ๊ก ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานของสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ (KFA) 

“Bandus จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดในการพา ชา บอม กึน ไปเล่นในสโมสรอาชีพเยอรมันตะวันตก โปรดส่งชามาเยอรมันตะวันตกภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน หรืออย่างช้าที่สุดต้นเดือนธันวาคม” เนื้อความในจดหมายว่าเอาไว้ 

ดูเหมือนจะเป็นอนาคตที่สดใสสำหรับชา เพราะนี่เป็นเหมือนจดหมายเชิญไปค้าแข้งในยุโรป แถมยังเป็นบุนเดสลีกา หนึ่งในลีกที่ดีที่สุดของโลกในตอนนั้น นอกจากนี้การได้ไปที่นั่นไม่เพียงแต่ทำให้เขาได้พัฒนาฝีเท้า แต่ยังทำให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี ความเป็นจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้น

ไม่ให้เธอไป 

ปลายทศวรรษที่ 1978 ถือเป็นช่วงเวลาที่พอเหมาะสำหรับชา ในการออกไปเล่นในต่างแดน เพราะตอนนั้นเขาอายุ 25 ปีแล้ว ซึ่งถือว่าไม่แก่และไม่หนุ่มเกินไป แถมหนึ่งปีก่อนนั้น ยาสุฮิโกะ โอคุเดระ นักเตะชาวญี่ปุ่น ก็เพิ่งย้ายไปค้าแข้งกับ โคโลญจน์ 

นอกจากนี้ แม้ว่าในตอนนั้น ยังไม่ได้รับประกันว่า ชา จะมีสโมสรลงเล่นในเยอรมันตะวันตก เพราะเขายังต้องไปทดสอบฝีเท้าก่อน แต่ผลงานอันยอดเยี่ยมในทีมชาติ ทำให้เชื่อได้ว่าเขามีโอกาสไม่น้อยที่จะได้ไปโชว์ฝีเท้าที่นั่น 


Photo : en.wikipedia.org

ทว่า ทันทีที่ พัค ดงฮี นำเรื่องนี้ไปบอกสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ เรื่องที่ดูเหมือนจะง่าย กลับกลายเป็นเรื่องยาก เมื่อ KFA ค้านแบบหัวชนฝา และไม่อนุญาตให้ ชา ออกไปเล่นในต่างแดน โดยมีเหตุผลสำคัญคือกลัวจะเสียเขาไปตลอดกาล 

แม้ว่าในปัจจุบัน สมาคมฟุตบอลของประเทศในแถบเอเชีย จะสนับสนุนให้นักเตะออกไปเล่นในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ และพัฒนาฝีเท้า แต่ในอดีตมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น

 

เนื่องจากในทศวรรษที่ 1970-1980 การเดินทางยังไม่ได้สะดวกสบาย และมีค่าใช้จ่ายสูง การปล่อยให้นักเตะออกไปเล่นในต่างประเทศ อาจจะมีความหมายว่าทีมชาติต้องหมดสิทธิ์ใช้งานนักเตะเหล่านั้นไปโดยปริยาย เพราะในยุคนั้นยังไม่มีกฎบังคับว่าผู้เล่นต้องกลับมาเล่นทีมชาติในวันฟีฟ่าเดย์ 

นอกจากนี้ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 เกาหลีใต้ยังไม่มีลีกอาชีพอย่างเป็นทางการ (เคลีกก่อตั้งในปี 1983) ในขณะที่ลีกกึ่งอาชีพ ก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก ทำให้ KFA มีทีมชาติเป็นตัวชูโรงเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากไม่มี ชา ในสีเสื้อของโสมขาว อาจส่งผลกระทบอย่างหนักต่อ ความนิยมของฟุตบอลในประเทศ

“การไม่มี ชา บอม กึน ความคลั่งไคล้ต่อฟุตบอลก็จะลดลง นอกจากนี้มันยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเดินหน้าต่อไปในช่วงเวลานี้ ที่กำลังตั้งเป้ากับโอลิมปิก 1980 ที่มอสโก ในสถานการณ์ที่ คิม แจ ฮัน ไปเล่นไม่ได้ ถ้าเสียเขาไปอีก เราคงเสียใจ ฟุตบอลเกาหลี สมควรเป็นที่รู้จักในเวทีระดับนานาชาติ และควรกลับไปยังจุดนั้น” KFA ให้เหตุผล 

“ในขณะเดียวกัน แน่นอนว่าอาจจะเป็นไปได้ที่จะวางเงื่อนไขในสัญญาให้เขากลับมาช่วยบ้านเกิด แต่มันก็ยังเป็นคำถามถ้าทำได้จริงหรือไม่” 

“นอกจากนี้มันยังเป็นไม่ได้ที่จะปล่อยให้นักเตะที่ค้าแข้งในต่างแดนลงเล่นในตำแหน่งสำคัญในเกมใหญ่ ที่กุมชะตากรรมของประเทศเอาไว้ เพราะต้องใช้เวลาพอสมควรในการฝึกฝนให้เข้ากับทีม” 


Photo : blog.daum.net

ในขณะเดียวกัน กองทัพอากาศ ต้นสังกัดก็ไม่เห็นด้วยกับการไปเยอรมันตะวันตกเช่นกัน ทำให้เขาถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ยกเว้นเดินทางไปเล่นให้กับทีมชาติเกาหลีใต้ เท่านั้น ทำให้ท้ายที่สุด KFA จึงได้ส่งจดหมายในเชิงปฏิเสธด้วยเนื้อหาที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลกลับไป 

“หลายปีก่อน ตอนที่โอคุเดระ ย้ายไปเยอรมันตะวันตกครั้งแรก เขาได้เงินเดือน 4,000 ดอลลาร์ (ราว 120,000 บาท) เพราะฉะนั้น ชา ควรได้รับ 7,000 ดอลลาร์ (210,000 บาท)” ข้อความในจดหมายระบุ 

 

“นอกจากนี้ ชา บอม กึน ไม่สามารถไปเยอรมันภายในต้นเดือนธันวาคมอย่างที่คุณแจ้งมา เพราะเขาต้องไปแข่งเอเชียนเกมส์ที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้น ถ้าคุณอยากเจอเขา ให้คุณมาที่กรุงเทพฯ เพื่อดูเขาเล่นแทน” 

อย่างไรก็ดี ความพยายามของ ดีเตอร์ ชูลต์ ก็ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป 

 

จากเอเชียนเกมส์สู่บุนเดสลีกา 

แม้ว่า KFA จะยืนกรานปฏิเสธแบบหัวชนฝา แต่ ชูลต์ ก็ไม่ยอมแพ้ เขาพยายามกดดันอย่างหนัก และยืนยันว่าผู้เล่นต้องลงทะเบียนก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 1978 เพื่อให้ทันลงแข่งในฤดูกาลที่เหลือ จึงเร่งเร้าให้สมาคมฯ ส่งตัว ชา มาเยอรมันตะวันตกในช่วงต้นเดือนธันวาคม 

ก่อนที่ความพยายามของเขาจะสัมฤทธิ์ผล เมื่อ KFA ใจอ่อนยอมปล่อยให้ ชา ไปทดสอบฝีเท้า แต่ยื่นคำขาดว่าต้องเป็นหลังวันที่ 20 ธันวาคม 1978 เนื่องจากดาวเตะตัวเก่งของพวกเขามีคิวลงรับใช้ทีมชาติในฟุตบอลเอเชียนเกมส์ที่กรุงเทพมหานคร 


Photo : www.edaily.co.kr

นอกจากนี้สมาคมฯ ยังยื่นเงื่อนไขว่า หาก ชา ทดสอบฝีเท้าผ่านและได้เล่นในเยอรมันตะวันตก พวกเขาต้องเดินทางมาแข่งนัดกระชับมิตรที่เกาหลีใต้ปีละครั้ง และต้องปล่อยให้ ชา เดินทางกลับมาเล่นฟุตบอลโลก รอบคัดเลือกทุกครั้ง 

ทำให้หลังเกมนัดชิงเหรียญทองกับเกาหลีเหนือ ที่จบลงด้วยผลเสมอและครองแชมป์ร่วมกันในวันที่ 20 ธันวาคม ชา ได้ขึ้นเครื่องบิน เดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่เยอรมันตะวันตกทันที

เขาถึงเยอรมันตะวันตกในวันที่ 23 ธันวาคม ตามแผนคือเขาจะเดินทางไปทดสอบฝีเท้ากับเหล่าสโมสรในบุนเดสลีกา และลุ้นให้ได้รับสัญญาจากสโมสรเหล่านี้ 

อย่างไรก็ดี แค่เพียง 3 วันในยุโรป โอกาสของเขาก็มาถึง เมื่อ ดาร์มสตัด ทีมท้ายตารางของลีก ประทับใจในฝีเท้าของเขา ทั้งที่ ชา เพิ่งร่วมซ้อมได้แค่ 30 นาที และยังไม่ฟิตเต็มร้อย หลังมีอาการเจ็ตแล็กจากการเดินทาง 

พวกเขายื่นสัญญาชั่วคราวให้กับ ชา โดยเขาจะได้รับเงิน 500 มาร์ค (ราว 9,300 บาท) ต่อเกม และจะได้เงินเดือน 4,000 มาร์ค (75,000 บาท) ต่อเดือน หากย้ายมาร่วมทีมถาวร 


Photo : blog.daum.net

มันไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะแม้ว่า ชา จะยังเป็นทหาร แต่ตามแผน เขาจะถูกปลดประจำการในวันที่ 1 มกราคม 1979 หรืออีกไม่ถึง 10 วันข้างหน้า ตามเงื่อนไขที่ได้ลดเวลาประจำการ 5 เดือน จากการเลือกเข้ามาอยู่กับกองทัพอากาศ 

ทำให้เขา จรดปากกา เซ็นสัญญาชั่วคราวกับ ดาร์มสตัด เป็นเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน โดยมีเงื่อนไขว่าหลังจากหมดสัญญา เขาสามารถเซ็นกับทีมไหนด้วยระยะสัญญา 2 ปี โดยไม่จำเป็นต้องเป็นดาร์มสตัด แต่ทีมนั้นต้องส่งนักเตะมาให้สังกัดเดิมของเขา 1 คน 

“ผมจะกรุยทางไปสู่ทีมใหญ่ด้วยการแสดงให้เห็นความสามารถของผมภายในหกเดือนนี้ มันเป็นเหมือนเป็นช่วงเวลาทดสอบฝีเท้าในปัจจุบัน” ชากล่าว

และเพียงแค่ 4 วันหลังการเซ็นสัญญา โอกาสแรกของเขาก็มาถึง 

 

ไกเซอร์แห่งเอเชีย 

30 ธันวาคม 1978 อาจจะเป็นแค่วันธรรมดาของคนทั่วไป แต่ไม่ใช่สำหรับ ชา บอม กึน และประวัติศาสตร์ฟุตบอลเกาหลีใต้ เมื่อเขาถูกส่งลงสนามทันที ในเกมที่ ดาร์มสตัด เปิดบ้านพบกับ โบคุม ทีมอันดับ 11 ของตาราง ซึ่งทำให้เขากลายเป็นนักเตะเกาหลีคนแรกในบุนเดสลีกาทันที 

และ ชา ไม่ได้แค่ลงไปอยู่ในสนามเท่านั้น เมื่อเขายังทำผลงานได้อย่างโดดเด่น มีส่วนร่วมกับสองประตูของ ดาร์มสตัด และช่วยให้ต้นสังกัดใหม่ของเขา ซึ่งเป็นทีมอันดับสุดท้ายของตาราง คว้าชัยเหนือผู้มาเยือนไปได้ 3-1 


Photo : www.dmitory.com

หลังเกมนั้น ดาวเตะเกาหลีใต้ ได้รับเสียงชื่นชมจากทั้งในและนอกสนาม ชื่อของเขาถูกเรียกจนอื้ออึงไปทั่วทั้งอัฒจันทร์ สถานีโทรทัศน์มีสกู๊ปพิเศษความยาว 15 นาทีเกี่ยวกับเขา ในขณะที่ บิลด์ สื่อชื่อดังของเยอรมันตะวันตก เรียกเขาว่า “อาวุธลับของดาร์มสตัด เบคเคนเบาเออร์แห่งเกาหลี และกองหน้าที่ดีที่สุดของเอเชีย”  

กระแส ชาฟีเวอร์ ทำให้เขาได้รับความสนใจจากทีมยักษ์ใหญ่ในบุนเดสลีกา ที่ต่างรู้ว่าเขามีสัญญาชั่วคราวเพียงแค่ 6 เดือน ไม่ว่าจะเป็น ฮัมบูร์ก รองจ่าฝูง หรือ แฟรงค์เฟิร์ต ทีมอันดับ 6 ที่หนึ่งในโค้ชของเขาเป็นคนค้นพบ ชา บอม กึน เอง 

ในขณะที่ เกมที่จะพบกับ โคโลญจน์ ในวันที่ 20 มกราคม ยังทำให้ผู้คนสนใจในตัว ชา ซึ่งถูกเรียกว่า “ไกเซอร์ (จักรพรรดิ) แห่งเอเชีย” ยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อคู่แข่งของเขาคือทีมของ ยาสุฮิโกะ โอคุเดระ นักเตะชาวญี่ปุ่นที่มีฉายาว่า “ราชันแห่งเอเชีย” ซึ่งย้ายมาเล่นในบุนเดสลีกาตั้งแต่ ปี 1977 

โดยพวกเขาต่างเปรียบเปรยว่ามันเป็นเหมือนการพบกันของ “เบ็คเคนเบาเออร์ จักรพรรดิแห่งฟุตบอลเยอรมันตะวันตก” และ “มุลเลอร์ ราชันแห่งฟุตบอลเยอรมันตะวันตก”  

แต่ก่อนจะถึงเกมนั้น ชา ต้องกลับเกาหลีใต้ไปจัดการเรื่องต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อน ทั้งเรื่องเอกสาร วีซ่า การย้ายบ้าน รวมไปถึงเรื่องครอบครัว 

แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าการกลับประเทศในครั้งนั้น จะนานกว่าที่ทุกคนคิด 

 

5 เดือนอันแสนขมขื่น 

เส้นทางนักฟุตบอลของ ชา ดูเหมือนกำลังจะไปได้สวย จากการเปิดตัวได้อย่างยอดเยี่ยมตั้งแต่เกมนัดแรก แต่ความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น 

เพราะแม้ว่า ชา จะได้รับคำมั่นสัญญาว่าเขาจะได้ปลดประจำการเร็วกว่ากำหนด 5 เดือน ตามเงื่อนไขการเข้ามาสังกัดกองทัพอากาศ ซึ่งตามกำหนดคือวันที่ 1 มกราคม 1979 แต่พอถึงวันนั้น เขากลับถูกบอกว่าไม่มีเงื่อนไขนี้มาก่อน แถมคนที่เคยสัญญากับเขาก็เสียชีวิตไปแล้ว 

“ไม่ว่าผู้เล่นจะยอดเยี่ยมแค่ไหน แต่พวกเขาก็ไม่มีสิทธิพิเศษกว่าคนอื่น” กระทรวงกลาโหมอธิบาย 


Photo : blog.naver.com

หลังจากทราบเรื่อง ชา พยายามเจรจากับกองทัพขอลดเวลาฝึก เพื่อให้ได้กลับไปเยอรมันตะวันตก แต่อย่างไรก็ไม่เป็นผล ถึงขนาดที่ สมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ และ กระทรวงศึกษาและวัฒนธรรม มาร่วมกดดัน คำตอบก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง 

“การถูกมองว่าเป็นคนพิเศษไม่สามารถลดระยะเวลาการรับราชการได้ และทำให้เขาไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศก่อนวันปลดประจำการอย่างเป็นทางการได้” กระทรวงกลาโหมย้ำ 

หลังจากนั้นไม่นาน การไม่ปล่อยตัว ชา ไปเล่นในยุโรป ก็มาถึงสื่อเยอรมันตะวันตก บิลด์ สื่อดังพาดหัวข่าวว่า “เกาหลีเข้มงวด ชาต้องกลับไปเป็นทหาร” 

ปัญหาของชา เริ่มลุกลามกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ อี ชางฮี เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำเยอรมันตะวันตก ถึงกับส่งจดหมายด่วนมายังกระทรวงต่างประเทศและกลาโหม เพื่อแจ้งว่า เรื่องนี้อาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้เสียหาย

“ถ้า ชา บอม กึน ไม่ได้กลับมาเยอรมันตะวันตกให้เร็วที่สุดจากปัญหาการรับราชการ อาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของฟุตบอลเกาหลีได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ความเชื่อมั่นต่อเกาหลีใต้ก็จะลดลงด้วย” ข้อความในจดหมายของ อี ชางฮี 

ในระหว่างนั้น หลายฝ่ายก็ต่างร่วมกดดันกระทรวงกลาโหมอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็น รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ ประธานสภากีฬา องค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเหล่าเด็ก ๆ ที่ต่างเขียนจดหมายเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชา กลับไปเยอรมัน 

เช่นเดียวกับฝั่งเยอรมัน Bandus สปอนเซอร์ที่พาเขาไปที่นั่น และ เฮอร์มัน ชมิดต์ ประธานสภาพผู้แทนเยอรมันตะวันตก ก็เขียนจดหมายขอให้ส่งตัวเขากลับมา

“ชา บอม กึน เป็นนักเตะของ ดาร์มสตัด โปรดอนุญาตให้เขากลับมาแข่งเกมในประเทศด้วย” จดหมายที่ Bandus ส่งให้กระทรวงกลาโหม 

แต่สุดท้ายคำตอบของพวกเขาก็คือ “ไม่” เหมือนเดิม ทำให้ ชา ต้องจำใจรับราชการต่ออีก 5 เดือน โดยมีกำหนดปลดประจำการในวันที่ 31 พฤษภาคม 1979 ซึ่งกลายเป็นช่วงเวลาอันขมขื่นที่สุดในชีวิตของเขา 


Photo : www.apsk.co.kr

“มันเจ็บปวดมาก และเป็นวันที่หนักหน่วง วันแล้ววันเล่า” ชาย้อนความหลังกับ Naver 

แต่ใช่ว่า ชา จะปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างเสียเปล่า แม้ว่าเขาจะไม่ได้กลับไปบุนเดสลีกา แต่ในระหว่างนั้น เขาก็ยังฝึกซ้อมอย่างหนักอยู่เสมอ เขากระโดดข้ามแท่งปูน 1,000 ครั้งต่อวัน เพื่อให้ร่างกายฟิตสมบูรณ์ที่สุดตอนที่ได้กลับไปที่นั่น 

ก่อนที่ ชา จะได้ในสิ่งที่เขาอดทนรอมาตลอด 

 

นักเตะประวัติศาสตร์ 

ปลายเดือนพฤษภาคม ช่วงเวลาแห่งการรอคอยอันยาวนานของ ชา ก็จบลง เมื่อเขาสิ้นสุดภารกิจรับราชการกับกองทัพอากาศ และได้ปลดประจำการอย่างเป็นทางการ 

และทันทีที่เขาเป็นอิสระ ก็มีสโมสรถึง 7 แห่งจาก 18 สโมสร ที่สนใจที่จะดึงตัวเขาไปร่วมทีม เนื่องจากตอนนั้น ดาร์มสตัด ตกชั้นลงไปเล่นในบุนเดสลีกา 2 เป็นที่เรียบร้อย ทว่าเขาก็ยังต้องไปทดสอบฝีเท้าก่อนเหมือนเดิม 

หลังลงเล่นนัดสุดท้ายในเกาหลีใต้กับทีมรวมดารามหาวิทยาลัยในโซล สเตเดียม ต่อหน้าแฟนบอลกว่า 35,000 คน ชา ก็เดินทางไปเยอรมันตะวันตกในวันที่ 22 มิถุนายน 1979 เพื่อทดสอบฝีเท้ากับเหล่าทีมที่สนใจในตัวเขา 

11 กรกฎาคม 1979 ชา ได้ไปทดสอบฝีเท้ากับ แวร์เดอร์ เบรเมน และเขาก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เมื่อซัดไปถึง 4 ประตู ในการทดสอบฝีเท้า จนทำให้ เบรเมน ยื่นสัญญาที่ปฏิเสธไม่ได้ให้เขาพิจารณาทันที 

อย่างไรก็ดี ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต ที่มีโค้ช ดีเตอร์ ชูลต์ ทำงานอยู่ ก็เป็นอีกหนึ่งทีมที่สนใจในตัว ชา เนื่องจากพวกเขาคือผู้ริเริ่มความคิดในการนำดาวเตะชาวเกาหลีใต้มาเยอรมันตะวันตก จึงได้เสนอเชิญ ชา มาทดสอบฝีเท้าในวันที่ 15 กรกฎาคม 1979 


Photo : post.naver.com

และเพชรอยู่ที่ไหนก็ยังเป็นเพชรวันยังค่ำ ชา ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในการทดสอบฝีเท้า เขาทำ 2 แอสซิสต์ ช่วยให้ทีมเอาชนะไปได้ 2-1 พร้อมกับได้รับเสียงชื่นชมว่านี่คือนักเตะต่างชาติที่เก่งที่สุดเท่าที่ทีมเคยมีมา 

หลังจบเกม แฟรงค์เฟิร์ต ยื่นสัญญาให้ ชา พิจารณาทันที ในขณะที่ เบรเมน ยืนยันว่าเขายินดีที่จะรับฟังทุกเงื่อนไขที่ ชา ร้องขอ แต่ถึงอย่างนั้น สุดท้าย ดาวเตะจากแดนโสมก็เลือกจรดปากกา เซ็นสัญญากับสโมสรแรกที่ค้นพบเขา 

ชา เซ็นสัญญากับ แฟรงค์เฟิร์ต ยาว 2 ปี จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 1981 ที่ทำให้เขามีรายได้รวม 300,000 มาร์คต่อปี (ราว 5 ล้านบาท) โดยเป็นค่าจ้างพื้นฐาน 240,000 มาร์คต่อปี (ราว 4.4 ล้านบาท) ส่วนที่เหลือเป็นโบนัสจากการแข่งขัน 

เขาได้ประเดิมสนามนัดแรกกับแฟรงต์เฟิร์ต ในวันที่ 11 สิงหาคม 1979 ก่อนจะสร้างปรากฎการณ์หลังจากนั้น ด้วยการยิงได้ 3 นัดติดต่อกันในเกมนัดที่ 3 ถึงนัดที่ 5 ของฤดูกาล และเปิดตัวซีซั่นแรกอย่างเป็นทางการด้วยการซัดไปถึง 12 ประตู 

และหลังจากนั้นก็คือตำนาน ชา มีส่วนร่วมกับความสำเร็จทั้งกับ แฟรงค์เฟิร์ต และ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน ด้วยการยิงไปถึง 121 ประตูจาก 372 นัดในยุโรป คว้าแชมป์ เดเอฟเบ โพคาล กับ แฟรงค์เฟิร์ต (ฤดูกาล 1980–81) และ ยูฟ่า คัพ กับทั้งสองทีม (ฤดูกาล 1979–80 กับ แฟรงค์เฟิร์ต และฤดูกาล 1987–88 กับ เลเวอร์คูเซน) และถูกเลือกติดทีมแห่งปีบุนเดสลีกาของนิตยสาร Kicker ถึง 2 สมัยในฤดูกาล 1979–80 และ 1985–86


Photo : blog.naver.com

เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเตะเอเชียที่เก่งที่สุดในยุโรป และเหมือนเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิก รวมไปถึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้นักเตะเอเชีย พาเหรดกันมาค้าแข้งในยุโรปในยุคหลัง 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “ไม่มีข้ออ้างสำหรับความสำเร็จ” เพราะขนาด ชา ต้องกลับไปเป็นทหารถึงสองครั้ง เขาก็ยังฝ่าฟัน จนกลายมาเป็นยอดนักเตะชื่อก้องโลกจนได้ 

จริงอยู่ อุปสรรค อาจจะเป็นเครื่องขัดขวางในการไปถึงเป้าหมายสำหรับบางคน  แต่ที่แน่ ๆ มันใช้ไม่ได้สำหรับคนที่จะก้าวมาเป็น “ตำนาน” และ ชา บอม กึน ก็พิสูจน์ให้เห็น จากประวัติศาสตร์ที่เขาได้ขีดเขียนเอาไว้ 

mm88