เศรษฐกิจล้ม ทุกอย่างพัง : ย้อนดูปัญหาวงการกีฬาของสหภาพโซเวียตช่วงก่อนล่มสลาย

0
132
สมัคร mm88

ย้อนไปในศตวรรษที่ 20 สหภาพโซเวียตคือหนึ่งในชาติที่เกรียงไกรที่สุดในวงการกีฬา โดยเฉพาะในแง่ของความเป็นเลิศ การันตีด้วยตำแหน่งเจ้าเหรียญทองโอลิมปิกหลายสมัย ทั้งการแข่งขันฤดูร้อนและฤดูหนาว

หากแต่ในช่วงท้ายก่อนสหภาพโซเวียตจะล่มสลาย พวกเขาต้องเจอกับปัญหาใหญ่จากแนวทางของประเทศที่ผิดพลาด จนนำมาซึ่งการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

สุดท้ายเพื่อรักษาความยิ่งใหญ่ของตัวเองไว้ โซเวียตจึงเลือกสร้างตราบาปที่ยังเป็นมลทินมาจนถึงปัจจุบัน

วันรุ่งโรจน์ของกีฬาในโซเวียต 

นับตั้งแต่จบสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 โลกถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งทันทีระหว่างค่ายเสรีนิยมที่นำโดยสหรัฐอเมริกากับฝั่งคอมมิวนิสต์ที่มีผู้นำคือสหภาพโซเวียต ความเชื่อทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่แตกต่างกันบีบบังคับให้ทั้งสองฝ่ายต้องแข่งขันเพื่อพิสูจน์ว่าฝั่งไหนคิดถูกและฝ่ายใดจะต้องยอมพ่ายแพ้ไปจากสังเวียน

ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างต้องหาวิธีการมาต่อสู้กัน เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าแนวทางของตัวเองดีกว่าของศัตรู และหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดคือการสร้างอำนาจและความสำเร็จผ่านการแข่งขันกีฬา

หากเปรียบเทียบระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต เป็นฝั่งพี่ใหญ่ของค่ายคอมมิวนิสต์ที่ให้ความสำคัญกับการต่อสู้ผ่านเกมกีฬามากกว่า และพวกเขาก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งอาวุธหลักที่แสดงศักยภาพของโซเวียต

 

จาก 9 ครั้งที่สหภาพโซเวียตเข้าร่วมการแข่งขันในโอลิมปิกฤดูร้อน พวกเขาเป็นเจ้าเหรียญทองถึง 6 ครั้ง ขณะที่การแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวโซเวียตก็คว้าตำแหน่งเจ้าเหรียญทองมาได้อีก 7 ครั้ง

มีหลากหลายกีฬามากในเวลานั้นที่โซเวียตถือได้ว่าเป็นสุดยอดของสุดยอด ไม่ว่าจะเป็น ยิมนาสติก, มวยปล้ำ, ยกน้ำหนัก, กรีฑา, วอลเลย์บอล, สกี, พายเรือ หรือฮอกกี้น้ำแข็ง 

สหภาพโซเวียตปลูกฝังความสำคัญของการเล่นกีฬาในประเทศได้อย่างง่ายดาย ด้วยการมีหน่วยงานที่เรียกว่า VSS หรือ Voluntary Sports Societies of the Soviet Union หน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาลโซเวียต ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มาใช้พื้นที่และใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการเล่นกีฬา 

โซเวียตปรับเปลี่ยนให้การเล่นกีฬาเป็นเรื่องสาธารณะ ใครที่อยากเล่นกีฬา ไม่ว่าเพราะอยากเป็นเลิศหรือเพียงแค่เพราะอยากออกกำลังกายสามารถมาใช้อุปกรณ์และพื้นที่ของรัฐได้ทันที 

 

เท่านั้นยังไม่พอ โซเวียตได้สนับสนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ (ซึ่งถูกรัฐบาลโซเวียตควบคุมอีกที) ตั้งหน่วยงานกีฬาหรือสโมสรกีฬาภายใต้สังกัดของตัวเองขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับองค์กรสามารถเข้าถึงและเล่นกีฬาได้ง่ายดาย

มีหน่วยงานรัฐและกลุ่มแรงงานมากมายที่มีสโมสรกีฬาเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางอากาศ, หน่วยงานด้านอาหาร, หน่วยงานด้านการผลิต, หน่วยงานทหาร, หน่วยงานสายลับ และอีกมากมายนับไม่ถ้วย จนทำให้ในปี 1970 สหภาพโซเวียตมีนักกีฬาที่อยู่ในรายชื่อที่บันทึกไว้มากถึง 25 ล้านคน 

นอกจากนี้สหภาพโซเวียตยังได้ตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า ดินาโม (Dynamo) หรือหน่วยงานที่ดูแลด้านกีฬาโดยเฉพาะ มีหน้าที่ค้นคว้าหาความรู้และยกระดับศักยภาพของกีฬาในโซเวียต และหน่วยงานแห่งนี้คือผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาวิทยาการด้านกีฬาของโซเวียตให้สามารถผลิตนักกีฬาที่มีความสามารถออกมาสร้างผลงานให้กับประเทศได้เป็นจำนวนมาก

แนวคิดที่ผิดพลาด

ด้วยแรงบันดาลใจจากแนวคิดมาร์กซิสต์ จาก คาร์ล มาร์กซ์ นักปรัชญาการเมืองชื่อดังชาวเยอรมัน ที่ถูกนำมาต่อยอดจนกลายเป็นระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ของโซเวียต ย่อมทำให้เงินทุนทุกอย่างที่ใช้ในการพัฒนาระบบการสร้างกีฬาของสหภาพโซเวียต อยู่ในมือของรัฐทั้งหมด

 

นี่คือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้วงการกีฬาของโซเวียตพัฒนาอย่างรวดเร็ว สามารถสร้างนักกีฬาที่แข็งแกร่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะรัฐสามารถทุ่มเงินลงไปได้ทันทีโดยไม่ต้องคิดถึงผลประโยชน์ด้านธุรกิจที่ตามมาว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ 

ขอแค่โซเวียตมองเห็นว่าการจ่ายเงินก้อนออกไปจะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จด้านกีฬา คว้าเหรียญทองหรือรางวัลกลับมาได้ ชาติมหาอำนาจจากฝั่งคอมมิวนิสต์ก็พร้อมใส่เต็มที่ไม่มียั้งมือ

โซเวียตไม่ได้คิดแบบนี้กับแค่เรื่องของกีฬาแต่คิดกับทุกอย่างที่จะสามารถช่วยให้พวกเขาได้แสดงอำนาจของประเทศให้เหนือกว่าสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น วิทยาศาสตร์, การพัฒนาอาวุธ, เทคโนโลยี รวมถึงความก้าวหน้าทุกประเภท โซเวียตใช้เงินจำนวนมากไปกับการวิจัยเหล่านี้ เพื่อหวังจะโค่นคู่ปรับจากฝั่งตะวันตกให้ได้ 

การทุ่มเงินจำนวนมากส่งผลให้โซเวียตประสบความสำเร็จในการแข่งขันกับสหรัฐฯ สำหรับวงการกีฬาก็ชัดเจนว่าพวกเขาเป็นต่อมากเพียงใด โดยเฉพาะในการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ ทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว

 

แต่การทุ่มงบมหาศาลไม่ได้นำพามาแค่ความสำเร็จสู่สหภาพโซเวียตเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการสูญเสียเงินจำนวนมาก จนสหภาพโซเวียตเริ่มเข้าใกล้เคียงกับสถานะที่เรียกว่า “ถังแตก” 

เหตุผลก็เพราะโซเวียตคิดถึงแต่การใช้เงิน ไม่ได้คิดถึงเรื่องการหาเงิน จากการแสวงหาอำนาจในการต่อสู้กับสหรัฐอเมริกา ถึงจะได้ชื่อเสียงกลับมาแต่ก็ไม่เคยได้ทุนทรัพย์กลับมาเพื่อเป็นขุมกำลังในระยะยาว ภายในระยะเวลาอันสั้นโซเวียตจึงถูกปัญหาด้านเศรษฐกิจเข้าโจมตีอย่างจัง

ในขณะที่สหรัฐอเมริกา แม้ว่าผลงานด้านกีฬาจะไม่ได้เป็นเลิศหากต้องแข่งกับโซเวียต แต่พวกเขารู้จักหากำไร สร้างรายได้จากเกมกีฬา และนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาคุณภาพของกีฬาในประเทศ 

สหรัฐอเมริกาสร้างลีกกีฬาอาชีพจำนวนมากในประเทศ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับนักกีฬา และช่วยพัฒนาความสามารถของผู้เล่นตามระบบของธุรกิจโดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาล

 

นอกจากช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐได้มหาศาล แนวทางการพัฒนาวงการกีฬาด้วยการปรับเปลี่ยนให้เป็นระบบอาชีพ ยังช่วยให้การพัฒนาขีดจำกัดของกีฬาไปได้ไกลกว่าที่ใครคาดคิด กีฬาได้แสดงให้เห็นว่าสามารถเป็นได้ทั้งธุรกิจมหาศาล, แบรนด์ที่ผู้คนทั่วโลกชื่นชม และเปลี่ยนนักกีฬาให้เป็นซูเปอร์สตาร์เหมือนกับนักร้องนักแสดง พวกเขาทำให้โลกได้เห็นว่ากีฬาไม่ใช่แค่เรื่องของความเป็นเลิศเพียงอย่างเดียว

ย้อนกลับมาที่สหภาพโซเวียต ประเทศมหาอำนาจฝั่งคอมมิวนิสต์ที่ไม่เคยหลุดพ้นจากแนวคิดที่ว่า “นักกีฬาต้องเป็นเลิศในการแข่งขันเท่านั้น” ซึ่งเคยได้ผลมากในช่วงต้นของสงครามเย็น แต่เวลาผ่านไปเพียงแค่นิดเดียวทุกอย่างก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเมื่อรัสเซียโดนปัญหาด้านเศรษฐกิจโจมตีอย่างหนักในยุค 80s

 

เศรษฐกิจพัง ทุกอย่างจบ 

เนื่องจากโซเวียตพัฒนากีฬาผ่านความเป็นเลิศเท่านั้น ทำให้นักกีฬาของประเทศแทบทุกคนเป็นนักกีฬาสมัครเล่นที่เข้าแข่งขันกีฬาเพราะอยากเป็นแชมป์หรืออยากได้เหรียญทอง ไม่ได้ต้องการเงินรางวัลตอบแทน

แนวทางของโซเวียตเคยได้ผลมาตลอด นี่คือเหตุผลที่ประเทศแห่งนี้พยายามปลูกฝังให้คนรักกีฬามาตั้งแต่เริ่ม เพื่อฉวยโอกาสใช้แพชชั่นของคนโซเวียตที่รักในเกมกีฬามาลงแข่งขันในนามตัวแทนประเทศแล้วไปสร้างชื่อเสียงกลับมาให้สหภาพโซเวียต 

ไม่ใช่ว่าสหภาพโซเวียตจะเป็นประเทศที่ใจร้าย ไม่เคยให้รางวัลตอบแทนนักกีฬาในประเทศ อันที่จริงแล้วโซเวียตมอบค่าตอบแทนที่ดีให้กับนักกีฬาหลายคน 

โดยเฉพาะนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับชาติ โซเวียตจ่ายเงินเดือนที่เหมาะสมให้กับพวกเขา เพื่อให้คนเหล่านี้มาเป็นนักกีฬาเต็มตัวให้กับประเทศ 

ทุกอย่างไม่เคยเป็นปัญหา จนกระทั่งสหภาพโซเวียตโดนปัญหาเศรษฐกิจเล่นงาน เนื่องจากการใช้เงินเกินตัวของรัฐบาล ผลที่ตามมาคือประชาชนในประเทศยากจนลงเรื่อย ๆ 

เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ การใช้ชีวิตให้อยู่รอดจึงกลายเป็นเรื่องยากลำบาก คนจำนวนมากไม่มีเวลาจะมาคิดถึงการเล่นกีฬา ในเมื่อพวกเขาต้องหาเงินไปซื้ออาหารมาเลี้ยงปากท้องก่อนเป็นอันดับแรก 

จึงทำให้โซเวียตสูญเสียนักกีฬาไปเป็นจำนวนมากที่ตัดสินใจเลิกเล่นกีฬา หันไปทำอย่างอื่นที่สามารถให้ค่าตอบแทนได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ เพราะไม่ใช่นักกีฬาทุกคนจะเก่งพอจนได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล ซึ่งมีส่วนน้อยเท่านั้นที่ดีพอและได้เงินสนับสนุนจากภาครัฐ

ประกอบกับการมีภาพของนักกีฬาอาชีพในสหรัฐอเมริกา ยิ่งทำให้นักกีฬาหลายคนต่อต้านการเป็นนักกีฬาในสหภาพโซเวียต 

พวกเขาเริ่มมีแนวคิดชัดเจนว่า ถ้าเล่นกีฬาแล้วสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศก็ควรได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม หรือถ้าจะทุ่มเทสละเวลาชีวิตไปกับการเล่นกีฬา กีฬาก็ควรจะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่ดีพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องแบบไม่ต้องเผชิญความยากลำบาก

อย่างไรก็ตามใช่ว่านักกีฬาทุกคนจะมีสิทธิ์เลือก เพราะสุดท้ายแล้วโซเวียตปกครองด้วยระบอบเผด็จการ หลายคนถูกข่มขู่จากภาครัฐให้ปิดปากเงียบถึงปัญหา และหากเปิดปากพูดถึงปัญหาแบบตรงไปตรงมาก็มีสิทธิ์ถูกสั่งจับกุมได้อย่างง่ายดาย

ตราบาปของวงการกีฬาโซเวียต

เศรษฐกิจที่แย่ลงไม่ได้ทำให้บุคลากรในประเทศหันหลังให้กับวงการกีฬาเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน มันทำให้ศักยภาพของนักกีฬาโซเวียตเริ่มตกต่ำลงและไม่แข็งแกร่งเหมือนในอดีต

อย่างไรก็ตามโซเวียตยังคงยึดแนวคิดที่จะต้องแสดงอำนาจของประเทศผ่านการแสดงความเป็นเลิศในการแข่งขันกีฬาไม่มีเปลี่ยนแปลง สุดท้ายจึงต้องไปพึ่งพาวิธีการที่แย่ที่สุดนั่นคือการ “โด๊ป” 

การใช้สารกระตุ้นแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติของนักกีฬาในโซเวียตยุค 80s โดยเฉพาะในการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ … ครั้งหนึ่งหน่วยงานรัฐบาลของออสเตรเลียเคยออกมาชี้แจงว่านักกีฬาเกือบทุกคนของสหภาพโซเวียตในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ปี 1980 ที่โซเวียตเป็นเจ้าภาพ ใช้สารกระตุ้นเกือบทุกคน แต่สุดท้ายก็รอดพ้นความผิดมาได้เพราะอำนาจของการเป็นเจ้าภาพ

การใช้สารกระตุ้นของนักกีฬาทีมชาติโซเวียตเลยเถิดจนถึงขั้นที่ว่า การใช้สเตียรอยด์ถือเป็นกิจวัตรประจำวันของนักกีฬาระดับโอลิมปิกหลายคนในโซเวียต เพียงแต่ในยุคนั้นเรื่องนี้ถือเป็นความลับสุดยอดไม่ได้มีการเปิดเผยออกมา และกว่าโลกจะได้รับรู้ก็เข้าสู่ยุค 2000s เป็นที่เรียบร้อย

อย่างไรก็ตามช่วงยุค 80s ถือว่าเป็นตราบาปของความยิ่งใหญ่ด้านกีฬาของสหภาพโซเวียต และมันทำให้พวกเขากลายเป็น “ผู้ชนะที่ขี้โกง” ลบภาพความไร้เทียมทานของนักกีฬาโซเวียตที่เคยสร้างมาจากแพชชั่นของคนรักกีฬาในยุคก่อนไปโดยสิ้นเชิง 

จนถึงทุกวันนี้เรื่องการใช้สารกระตุ้นของนักกีฬาโซเวียตในยุคนั้น ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ศึกษาเรื่องราวกีฬาของสหภาพโซเวียตจะต้องพูดถึงอยู่เสมอ

หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปี 1991 เรื่องราวของกีฬาในประเทศนี้จึงจบลงอย่างสมบูรณ์ และน่าเสียดายที่ต้องปิดฉากลงด้วยภาพที่เลวร้ายกับปัญหาด้านการใช้สารกระตุ้นที่ไม่เคยเปิดโอกาสให้โซเวียตได้แก้ไขและกลับมาเป็นชาติมหาอำนาจทางกีฬาอย่างเต็มภาคภูมิได้อีกครั้ง 

mm88