ไม่ลงรอยกันเป็นพันปี : ทำไมแฟนบอล "สกอตแลนด์" ถึงพังเวมบลีย์หลังชนะ "อังกฤษ"

0
157
สมัคร mm88

นับตั้งแต่ปี 1707 อังกฤษ และสกอตแลนด์ สองชาติมหาอำนาจแห่งเกาะบริเตนใหญ่ ผนวกการปกครองเป็นหนึ่งภายใต้ ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ หรือ สหราชอาณาจักรในเวลาต่อมา

สิ่งที่ตามมาหลังจากการรวมประเทศ คือระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เป็นหนึ่งเดียว แต่ความชิงชังระหว่างผู้คนทั้งสองชาติ ยังก่อตัวขึ้นในใจลึก ๆ โดยเฉพาะ ชาวสกอต ที่เห็นว่าตัวเองเป็นชาติเมืองขึ้นของอังกฤษ

ความรู้สึกนั้นถูกส่งต่อมายังสนามฟุตบอล จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ครั้งหนึ่ง แฟนบอลสกอตแลนด์นับหมื่น จะบุกทำลายข้าวของในสนามเวมบลีย์ เพียงเพราะพวกเขาเอาชนะทีมชาติอังกฤษในฟุตบอลกระชับมิตร

นี่คือเรื่องราวจากประวัติศาสตร์อันยาว และความรู้สึกที่สะท้อนผ่านภาพยนตร์ ซึ่งจะช่วยให้คุณเข้าใจว่า ทำไมแฟนบอลสกอตแลนด์ ถึงภาคภูมิใจในทุกครั้ง ที่พวกเขาเอาชนะฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ

ประวัติศาสตร์ สงคราม และการรวมประเทศ

แม้จะอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร แต่ชาวอังกฤษ และชาวสกอตแลนด์ ถือเป็นสองชาติที่แสดงความชิงชังต่อกันและกัน มาตั้งแต่ก่อนโลกจะรู้จักกับกีฬาฟุตบอล


Photo : historic-uk.com

การแบ่งแยกดินแดนของทั้งสองฝ่าย เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 122 หลังอาณาจักรโรมันบุกยึดครองเกาะบริเตนใหญ่ และได้เข้าปกครองชาวอังกฤษที่อาศัยทางตอนใต้ แต่ไม่สามารถควบคุมชาวสกอตแลนด์ ซึ่งมีอำนาจทางตอนเหนือของเกาะ

จักรพรรดิฮาดริอานุส กษัตริย์แห่งอาณาจักรโรมัน จึงมีคำสั่งให้สร้าง “กำแพงฮาดริอานุส” เพื่อแบ่งแยกเขตแดนของอังกฤษจากสกอตแลนด์ และใช้เป็นเครื่องป้องกันคนเถื่อนจากแดนเหนือ ไม่ให้เข้ามารุกรานดินแดนทางตอนใต้

 

ทันทีที่กำแพงฮาดริอานุสปิดกั้นพรมแดนระหว่างอังกฤษ และสกอตแลนด์ ความบาดหมางของทั้งสองชาติจึงเริ่มก่อตัวขึ้น ชาวอังกฤษเริ่มมองสกอตแลนด์ เป็นคนเถื่อนที่ไม่อยู่ภายใต้อารยธรรมโรมัน


Photo : history.com

ส่วนชาวสกอตแลนด์มองอังกฤษเป็นพวกขูดเลือดขูดเหนือ เพราะประตูกำแพงถือเป็นด่านศุลกากร มีการเก็บภาษีสินค้าจากสกอตแลนด์ เพื่อสร้างความมั่งคั่งแก่อาณาจักรโรมันบริเตน

อังกฤษ และสกอตแลนด์ เป็นอิสระต่อกันและกัน จนกระทั่ง ปี 1296 เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ ยกทัพโจมตีอาณาจักรสกอตแลนด์ ก่อนบีบบังคับให้ราชาจอห์นแห่งสกอตแลนด์ สละราชสมบัติ 

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 จึงแต่งตั้งพระองค์ขึ้นเป็น “เจ้าผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งสกอตแลนด์” และได้รับฉายาจากชาวอังกฤษว่า “ผู้ปราบสกอต”

 

เหตุการณ์ครั้งนั้น นำมาสู่สงครามประกาศอิสรภาพสกอตแลนด์ครั้งแรก หลังบรรดาชนชั้นนำของชาวสกอต ก่อการจลาจลต่อต้านชาวอังกฤษ ผลจบลงด้วยชัยชนะของสกอตแลนด์ หลังพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 พ่ายแพ้ในการรบที่แบนน็อคเบิร์น แก่ราชาโรเบิร์ต เดอะ บรูซ เมื่อปี 1214 ก่อนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 จะลงนามยุติสงคราม ในปี 1328


Photo : bbc.co.uk

หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายไม่เคยทำสงครามกันอีก จนถึงปี 1512 พระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์ ทรงยกทัพบุกอาณาจักรอังกฤษ ในช่วงที่พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ ทรงยกทัพบุกโจมตีฝรั่งเศสอีกทอดหนึ่ง

การฉวยโอกาสบุกโจมตีอังกฤษของสกอตแลนด์ครั้งนี้ ไม่ประสบความสำเร็จ แถมผลลัพธ์ยังออกมาย่ำแย่เกิดคาด เพราะนอกจากจะไม่ชนะแล้ว พระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์ ยังสวรรคตในการต่อสู้ที่ทุ่งโฟลดเดน ส่งผลให้สงครามครั้งนี้ยุติลงอย่างรวดเร็ว

อังกฤษ และสกอตแลนด์ ทำสงครามกันอีกหลายครั้ง แต่โชคชะตาของสองอาณาจักรเปลี่ยนไปในปี 1603 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ สิ้นพระชนม์ โดยไม่มีรัชทายาท เนื่องจากถือตนเป็นผู้ทรงพรหมจรรย์ นำมาสู่จุดสิ้นสุดของราชวงศ์ทิวดอร์

 

บัลลังก์ของอาณาจักรอังกฤษจึงถูกส่งต่อไปยัง พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ ซึ่งสืบเชื้อสายห่าง ๆ จากราชวงศ์ทิวดอร์ พระองค์จึงเสวยราชย์เป็น พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ และเป็นกษัตริย์องค์แรกที่สามารถรวมรวมราชบัลลังก์แห่งสกอตแลนด์ อังกฤษ และไอร์แลนด์ เข้าด้วยกัน

อังกฤษ และสกอตแลนด์ จึงอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์องค์เดียวนับจากนั้น แต่ราชบัลลังก์ของสกอตแลนด์ยังคงแยกจากราชบัลลังก์แห่งอังกฤษ ส่งผลให้อังกฤษ และสกอตแลนด์ยังคงดำรงสถานะเป็นรัฐอธิปไตย


Photo : aforceforgood.org.uk

กระทั่งปี 1707 ภายใต้รัชสมัยของของแอนน์ สมเด็จพระราชินีนาถแห่งบริเตนใหญ่ ราชอาณาจักรสกอตแลนด์ และราชอาณาจักรอังกฤษ รวมกันเป็นราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ภายใต้พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ส่งผลให้ความพยายามที่จะรวมสองประเทศเป็นหนึ่ง ซึ่งดำเนินยาวนานกว่า 100 ปี ประสบผลสำเร็จ

ความรู้สึกด้อยค่าของชาวสกอต

ถึงจะอยู่ภายใต้ธงชาติเดียวกัน และกษัตริย์องค์เดียวกัน มานานกว่า 300 ปี แต่ความชิงชังที่ชาวสกอตแลนด์ มีต่อชาวอังกฤษ ไม่ได้ลดน้อยลงไปแม้แต่น้อย

Trainspotting ภาพยนตร์ในปี 1996 ที่บอกเล่าเรื่องราววัยรุ่นขี้ยาในนครเอดินเบอระ เมืองหลวงของสกอตแลนด์ มีประโยคของตัวละครที่กล่าวความน้อยเหนือต่ำใจ ที่เกิดมาเป็นชาวสกอตแลนด์ โดยเปรียบเทียบกับชาวอังกฤษไว้ดังนี้

“การเป็นชาวสกอตนี่แม่งแย่ที่สุด เราอยู่ในจุดต่ำสุดของต่ำสุด เราเป็นพวกอัปยศที่สุด ทุกข์ทรมานที่สุด อดสูที่สุด น่าสมเพชที่สุด เท่าที่เคยมีมาในอารยธรรมของมนุษยชาติ” ตัวละคร มาร์ค เรนตัน ที่แสดงโดย ยวน แม็คเกรเกอร์ กล่าว

ADVERTISEMENT

“ถึงใคร ๆ จะเกลียดพวกอังกฤษ แต่กูไม่เลย พวกมันเป็นแค่ไอ้หน้าโง่ แต่เรากลับถูกปกครองโดยไอ้หน้าโง่พวกนั้น แค่จะหาเจ้านายดี ๆ มาปกครองประเทศ พวกเรายังทำไม่ได้เลย หาได้แค่พวกงี่เง่าเท่านั้น”

“ไม่มีอะไรจะแย่กว่าการเป็นชาวสกอตอีกแล้ว”

ฉากดังกล่าวในภาพยนตร์เรื่อง Trainspotting แสดงให้เห็นถึงความเกลียดชังที่ชาวสกอตมีต่อชาวอังกฤษ และความเจ็บปวดในการเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ซึ่งในสายตาของชาวสกอตนั้น ไม่แตกต่างจากการตกเป็นเมืองขึ้นของชาวอังกฤษ


Photo : pastemagazine.com

เว็บไซต์ History กล่าวว่า กระแสชาตินิยมกลับมาสู่ชาติในสหราชอาณาจักร หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กีฬาฟุตบอล กลับมาเป็นที่นิยมในอังกฤษ และสกอตแลนด์อีกครั้ง โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นแรงงาน

ในยุคที่สงครามไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป กีฬาฟุตบอลกลายเป็นสมรภูมิตัวแทนระหว่างสองชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสายตาของชาวสกอตที่มองว่า เกมลูกหนังเป็นโอกาสเดียวที่จะช่วยให้พวกเขา มีชัยเหนือเหนือชาวอังกฤษเสียที

 

ศัตรูเก่าแก่ที่แพ้ไม่ได้

แนวคิดชาตินิยมสกอตแลนด์ กลายเป็นเหตุผลที่ทำให้บ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง อังกฤษ กลายเป็นคู่ปรับอันดับหนึ่งของฟุตบอลแดนตาร์ตัน นักข่าวกีฬาชาวสกอตมักเรียกทีมชาติอังกฤษ โดยใช้คำว่า “Auld Enemy” เป็นศัพท์สแลงที่แปลความหมายว่า “ศัตรูเก่าแก่”


Photo : dailymail.co.uk

ชัยชนะของทีมชาติสกอตแลนด์ เหนือทีมชาติอังกฤษในเกมลูกหนัง จึงมีความหมายมากกว่าที่ใครจะเข้าใจ เห็นได้ชัดจากการแข่งขันเมื่อปี 1977 ที่ขุนพลตาร์ตันสามารถเอาชนะทัพสิงโตคำราม 2-1 ในการแข่งขัน British Home Championship ที่สนามเวมบลีย์

ชัยชนะในวันนั้น นำมาสู่เหตุการณ์วุ่นวานที่เรียกว่า “Wembley pitch invasion” เมื่อแฟนบอลชาวสกอตนับหมื่นบุกลงสนามเวมบลีย์ ด้วยสภาพเมาเละเทะ แบบที่ตำรวจอังกฤษได้แต่ยืนมอง

พวกเขาฉลองสุดเหวี่ยง จนลุกลามไปถึงขั้นทำลายข้าวของ แฟนบอลจำนวนหนึ่งขุดพื้นสนามเวมบลีย์เป็นของที่ระลึกกลับบ้าน แต่แฟนบอลอีกส่วนไปไกลกว่านั้น พวกเขาจงใจพังประตูฟุตบอลในสนาม เพื่อหวังแบกคานประตูกลับบ้าน


Photo : reddit.com

“คุณเคยยกคานประตูหรือเปล่า ? มันหนักจนน่าเหลือเชื่อเลยนะ แต่แฟนบอลของเราต้องการขโมยมันกลับบ้าน” เดนิส ลอว์ กองหน้าชื่อดังชาวสกอต รำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น

เหตุการณ์ในวันนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้น ธรรมเนียมการวิ่งลงสนามของแฟนบอลทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีให้เห็นกันแทบทุกปี เพราะอังกฤษ และสกอตแลนด์ จะจัดเกมกระชับมิตรกันปีละครั้ง 

กระทั่งปี 1989 หลังโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร่ ความรุนแรงในฟุตบอลอังกฤษกลายเป็นประเด็นใหญ่ในสังคม ส่งผลให้เกมกระชับมิตรระหว่างอังกฤษ และสกอตแลนด์ ถูกยกเลิกไป

เกมระหว่าง อังกฤษ กับ สกอตแลนด์ จึงกลายเป็นฟุตบอลที่เจอกันนาน ๆ ครั้ง ในช่วงหลายปีหลัง แต่ทุกครั้งที่เจอกัน ความเข้มข้นของพวกเขาไม่เคยเปลี่ยน โดยเฉพาะในรอบเพลย์ออฟ ยูโร 2000 ที่ทั้งคู่โคจรมาเจอกัน เพื่อตัดสินว่าทีมไหนจะคว้าตั๋วใบสุดท้ายของการแข่งขัน

สำหรับแฟนบอลอังกฤษ สิ่งสำคัญคือการก้าวสู่ฟุตบอลชิงแชมป์ยุโรป สมฐานะชาติยักษ์ใหญ่ประจำทวีป แต่สำหรับแฟนบอลสกอตแลนด์ การเอาชนะคู่ปรับเก่าถือเป็นเรื่องสำคัญกว่าสิ่งใด

“สกอตแลนด์คือชาติที่เราภาคภูมิใจ เพราะฉะนั้น มันคงจะสร้างความมั่นใจแก่พวกเราได้มาก หากเราคว้าชัยชนะเหนืออังกฤษ” แฟนบอลรายหนึ่งกล่าวกับ BBC เมื่อปี 2000

“ผมคิดว่าการเอาชนะทีมชาติอังกฤษมีความหมายต่อชาวสกอตโดยทั่วไป มากกว่าที่ชาวอังกฤษทั่วไปจะรู้สึกถึงชัยชนะเหนือสกอตแลนด์”

แม้ทีมชาติสกอตแลนด์ จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ด้วยสกอร์รวม 1-2 และพลาดตั๋วลุยยูโร 2000 แต่นั่นไม่ทำให้กำลังใจของพวกเขาลดลงไป และยังนับวันรอที่จะแก้แค้นทีมชาติอังกฤษ บนเวทีชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปอีกครั้ง


Photo : Uefa.com

ในที่สุด ทั้งสองชาติได้โคจรมาพบกัน หลังอังกฤษ และสกอตแลนด์ โคจรมาพบกันในการแข่งขันกลุ่ม D ของฟุตบอลยูโร 2020 ซึ่งจะจัดขึ้นในสนามเวมบลีย์

สำหรับแฟนบอลชาวอังกฤษ นี่อาจเป็นแค่เกมหนึ่งที่พวกเขาต้องชนะเพื่อผ่านเข้าสู่รอบต่อไป แต่สำหรับชาวสกอตแลนด์ นี่คือเกมสำคัญที่สุดในทัวร์นาเมนต์ การตกรอบแรกย่อมยอมรับได้ ตราบใดที่พวกเขาเอาชนะศัตรูเก่าแก่

ภาพการบุกลงสนามเวมบลีย์ยังคงหอมกรุ่นในความทรงจำของแฟนบอลแดนตาร์ตัน … เหตุการณ์ครั้งนั้นจะเกิดขึ้นซ้ำรอยหรือไม่ ? เราคงรู้กันในไม่ช้านี้

mm88